ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยอเมริกันพบสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลายเป็นมลพิษในทะเลสาปน้ำจืดหลายแห่งในประเทศ


สารเคมีไทรโคซานที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในสหรัฐ เมื่อ 49 ปีที่แล้วและได้กลายเป็นส่วนผสมในสินค้าอุปโภคบริโภคในอีกไม่กี่ปีต่อมา คุณวิลเลี่ยม อาร์โนลด์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัย University of Minnesota ในมินนิสอาโพลิส เซ็นท์พอล กล่าวว่า ในปัจจุบันสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเกือบทุกประเภท ตั้งแต่สบู่จนถึงน้ำยาซักผ้า

ศาสตราจารย์อาร์โนลด์กล่าวว่าคนเราใช้สารตัวนี้ล้างมือ แปรงฟัน และในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อโรค นี่ทำให้มีสารเคมีชนิดนี้สั่งสมในสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบ

ทีมนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างซากตะกอนจากก้นทะเลสาปแปดแห่งในรัฐมินนนิสโซต้าเพื่อตรวจหาสารไทรโคซานในซากตะกอนที่สั่งสมใต้ก้นทะเลสาป

ศาสตราจารย์อาร์โนลด์กล่าวว่าทีมวิจัยพบว่าระดับการสะสมของสารไทรโคซานอยู่ที่ศูนย์ ในช่วงก่อน 49 ปีที่แล้วแต่ได้เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆหลังจากนั้นโดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1980 หลังจากมีการผลิตสบู่ต่อต้านแบคทีเรียออกมาใช้

เมื่อมีการใช้สบู่ต่อต้านแบคทีเรียกันอย่างแพร่หลาย ปริมาณสารไทรโคซานที่ปนเปื้อนในน้ำเสียจากครัวเรือนเพิ่มปริมาณขึ้น ทีมนักวิจัยพบว่ามีปริมาณสารไทรโคซานมากที่สุดในโคลนตมชั้นบนสุดของตะกอนที่สั่งสมใต้ท้องทะเลสาป

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังพบสารเคมีอีกสามชนิดที่แยกตัวมาจากสารไทรโคซาน หลังจากที่สารไทรโคซานผสมกับสารคลอไรล์ในน้ำในขั้นตอนบำบัดน้ำเสีย และเมื่อสารไทรโคซานและสารเคมีที่แยกตัวออกมาอีกสามชนิดนี้โดนกับแสงแดด สารเหล่านี้จะสร้างสารไดออกซินออกมา ศาสตราจารย์อาร์โนลด์กล่าวว่าสารไดออกซินเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร เริ่มจากทำให้เกิดพืชสีเขียวตระกูลสาหร่าย หรือ อัลจี้ (algae) ขึ้นในทะเลสาป

ศาสตราจารย์อาร์โนลด์กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าคนทั่วไปคิดว่าหากมีพืชสีเขียวตระกูลสาหร่ายในทะเลสาป จะไม่ดี แต่จริงๆแล้วมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารและหากพบในปริมาณมากในน้ำแสดงว่ากำลังเกิดปัญหาในสภาพแวดล้อมของน้ำ เขากล่าวว่าสารไทรโคซานยังเข้าไปสู่ปลาผ่านการสั่งสมทางชีวิวิทยาและคาดว่าสารประกอบในไทรโคซานอาจจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารเช่นกัน

ศาสตราจารย์อาร์โนลด์กล่าวว่าสารไทรโคซานและสารเคมีที่เกี่ยวข้องกันสามารถสะสมมากขึ้นในทะเลเช่นเดียวกับที่เกิดการสั่งสมในแหล่งน้ำจืด

หน่วยงานควบคุมการใช้สารไทรโคซานในสหรัฐพบว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสารไทรโคซานมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคดีกว่าสบู่ธรรมดา แต่ชี้ว่าไทรโคซานในยาสีฟันสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือก ส่วนทางการแคนาดาได้เริ่มควบคุมการใช้สารเคมีชนิดนี้แล้ว

บทความเกี่ยวกับการสั่งสมของสารต่อต้านแบคทีเรียไทรโคซานในทะเลสาปหลายแห่งในสหรัฐโดยทีมนักวิจัยอเมริกันนำโดยศาสตราจารย์วิลเลี่ยม อาร์โนลด์ แห่งมหาวิทยาลัย University of Minnesota ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้ในวารสาร Environmental Science and Technology
XS
SM
MD
LG