ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูกันดาเรียกร้องให้ WTO ต่ออายุสิทธิบัตรยาแก่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างไม่มีกำหนด


ชาติสมาชิก WTO ถกเรื่องการต่ออายุสิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยาแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดในโลก แต่สหรัฐฯ ต้องการให้ลดหย่อนเพิ่มอีกแค่ 10 ปีเท่านั้น

ภายใต้ข้อกำหนดขององค์การค้าโลกหรือ WTO ระบุว่าประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดในโลกรวม 34 ชาติ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายทางการค้าว่าด้วยสิทธิบัตรยา โดยประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา

ข้อยกเว้นดังกล่าวอนุญาตให้ประเทศเหล่านี้นำเข้าหรือผลิตยา generic ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายการค้าว่าด้วยสิทธิบัตรยาที่ปกป้องคุ้มครองผู้คิดค้นและผลิตสูตรยาต้นตำรับ ช่วยลดค่าราคายาลงมาเพื่อให้คนจนเข้าถึงยาได้

อย่างไรก็ตามข้อยกเว้นดังกล่าวจะหมดอายุลงภายในปลายปีนี้

ประเทศยูกันดาพยายามผลักดันให้ต่ออายุข้อยกเว้นนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุด ด้านโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป ตลอดจนหน่วยงานแพทย์ไร้พรมแดนต่างสนับสนุนข้อเรียกร้องของยูกันดานี้ แต่สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยและกดดันให้มีการต่ออายุข้อยกเว้นนี้ออกไปอีกเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น

บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยูกันดาชี้ว่า ระยะเวลา 10 ปีไม่เพียงพอที่ยูกันดาจะพัฒนาห้องแล็ปการวิจัยยาและผลิตยาต้นตำรับขึ้นเองได้

นายโมเสส โมลุมบา ผู้อำนวยการบริหารแห่งศูนย์เพื่อสุขภาพ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Center for Health, Human Rights and Development) ในกรุงคัมพาล่ากล่าวว่า ในยุคที่มีการระบาดของโรคร้าย อย่างโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ยูกันดาต้องการยารักษาโรคเพื่อบำบัดโรคเหล่านี้ แต่น่าเสียดายที่การประชุมดังกล่าวเน้นผลประโยชน์ของผู้คิดค้นต้นตำรับยามากกว่าคนจน

และน่าเบื่อหน่ายอย่างมากที่สหรัฐฯ มีท่าทีที่ขัดแย้ง โดยออกมาพูดสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน แต่อีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ กลับพยายามผลักดันนโยบายและกฏหมายการค้าว่าด้วยสิทธิบัตรยา ที่จะส่งผลให้ประเทศยากจนที่สุดไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคตัวใหม่ๆ ที่มีคุณภาพสูงได้

และหากข้อยกเว้นนี้ไม่ได้รับต่ออายุภายในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในโลก 34 ชาติจะสามารถผลิตได้เฉพาะยา generic ของยาที่สิทธิบัตรหมดอายุลงแล้วเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นยาที่คิดค้นขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว และหากข้อเสนอของสหรัฐฯ ได้รับไฟเขียวจาก WTO ข้อยกเว้นด้านการค้าสิทธิบัตรยาจะหมดอายุลงในปีค.ศ. 2026

ขณะที่อัตราการติดเชื้อเอดส์ยังสูงอยู่ในบรรดาประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในโลก ประกอบกับปัญหาเชื้อโรคดื้อต่อยาซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างมองว่าข้อจำกัดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคตัวใหม่ๆ อาจจะส่งผลเสียรุนแรงอย่างมากต่อประเทศยากจน

นายเนวิน แบรดฟอร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งบริษัท Cipla Quality Chemicals หนึ่งในบริษัทเพียงสองเเห่งที่โรงงานผลิตยาในแอฟริกาตะวันออกได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า จะเกิดมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยารักษาโรคตัวใหม่ๆ ในประเทศด้อยพัฒนาอย่างมาก เนื่องจากเชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ และเริ่มต่อต้านต่อยา ทำให้ยาต้านไวรัสที่ผลิตออกมาเมื่อห้าปีที่แล้วมีประสิทธิผลในการรักษาโรคน้อยลง

และในบางกรณี ผู้ป่วยต้องเลิกใช้ยาต้านไวรัสบางตัวไปเลยเพราะโรคดื้อต่อยารุนแรง และสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับเชื้อไวรัสตับอักเสบและโรคอื่นๆ ด้วย ดังนั้นภายในอีกห้าปี ประเทศด้อยพัฒนามากที่สุดในโลกอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยารักษาโรคที่กำลังจะผลิตออกมาในปัจจุบันนี้ มีผลต่อการรักษาโรคต่ำลงและจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคตัวใหม่ๆ ล่าสุดแทน

สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคัมพาล่าชี้แจงว่าในขณะที่สหรัฐฯ ตระหนักดีถึงความหนักหนาสาหัสของปัญหาการเข้าถึงยารักษาโรคตัวใหม่ๆ ในประเทศยากจน

สหรัฐฯ เห็นว่าการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทผู้ผลิตยามีความสำคัญในการสร้างแรงดึงดูดใจแก่บริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้เดินหน้าลงทุนด้านวิจัยและพัฒนายารักษาโรคตัวใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด

XS
SM
MD
LG