ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่มีต่อตลาดพลังงานโลกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


ผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่มีต่อตลาดพลังงานโลกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่มีต่อตลาดพลังงานโลกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อกันว่าปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลในญี่ปุ่นจะส่งผลให้หลายประเทศหันกลับมาให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานอื่นมากขึ้น เช่นถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังไม่เชื่อว่าภัยพิบัติในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดพลังงานโลก หรือแม้แต่จะทำให้หลายประเทศล้มเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเล็กน้อยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจากข่าวลือว่าความต้องการพลังงานในญี่ปุ่นอาจลดลงต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนเนื่องจากผลกระทบของภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ แต่นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานโลกในระยะสั้นเท่านั้น

คุณ Ken Medlock นักวิเคราะห์ด้านพลังงานแห่งมหาวิทยาลัย Rice เชื่อว่าต่อจากนี้รูปแบบการนำเข้าน้ำมันดิบของญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไป โดยน้ำมันดิบส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันแห่งอื่น ซึ่งอาจเป็นประเทศอื่นในเอเชียหรือในสหรัฐ ก่อนที่จะส่งมายังญี่ปุ่นในรูปของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแทนน้ำมันดิบ จนกว่าโครงสร้างด้านพลังงานต่างๆของญี่ปุ่นจะกลับสู่ภาวะปกติ

คุณ Medlock ยังเชื่อด้วยว่าจากนี้ชาวญี่ปุ่นจะควบคุมปริมาณการใช้พลังงานของตนอย่างเคร่งครัด จนกว่าประเทศจะฟื้นฟูเต็มที่ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์หลังภัยพิบัติครั้งนี้ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากบทเรียนในอดีตเวลาที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานผู้นี้ยังบอกด้วยว่า ในระยะสั้นมีแนวโน้มที่ชาวญี่ปุ่นจะหันไปใช้พลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากกว่าพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในระยะยาวตลาดพลังงานโลกจะมีเวลาเพียงพอในการดูดซับหรือรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ นักวิเคราะห์ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่มาก หลายประเทศเช่นสหรัฐ เยอรมันนี และฝรั่งเศส สั่งระงับโครงการขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชั่วคราวและขอให้มีการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ

คุณ Robert Bryce ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานผู้เขียนหนังสือชื่อ “Power Hungry” ชี้ว่าภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมาทบทวนโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียใหม่ ซึ่งทั้งประเด็นอ่อนไหวทางจิตใจและทางการเมืองจะทำให้การอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตก

ถึงกระนั้น คุณ Bryce เชื่อว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต เช่นอินเดียและจีน มีแนวโน้มที่จะยังคงผลักดันให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปเพื่อรองรับความต้องการพลังงานมหาศาลในประเทศ และว่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น พลังงานนิวเคลียร์คือทางเลือกที่ดึงดูดใจมากที่สุด เพราะนิวเคลียร์สามารถจัดหาพลังงานไฟฟ้าได้มหาศาลซึ่งไม่สามารถหาได้จากแหล่งพลังงานอื่นๆ

คุณ Bryce ยังเสริมด้วยว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นที่เสียหายและเกิดการรั่วไหลเนื่องจากแผ่นดินไหวนั้น เป็นเตาปฏิกรณ์แบบเก่าที่ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว ก่อนที่จะมีการพัฒนาออกแบบโครงสร้างให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ระบุว่าการก่อสร้างเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบันที่เรียกว่า Generation Three Reactor นั้น ใช้เทคโนโลยีและการออกแบบที่ล้ำสมัยกว่าเตาปฏิกรณ์แบบเก่าที่ออกแบบเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม บรรดานักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ต่อต้านนิวเคลียร์ต่างเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยุติโครงการพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด และหันไปหาพลังงานสะอาดเช่นพลังงานลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์ ทั้งเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย แต่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าพลังงานสะอาดนั้นยังไม่เพียงพอป้อนความต้องการมหาศาลของชาวญี่ปุ่น และที่สำคัญการที่ญี่ปุ่นจะฟื้นฟูบูรณะประเทศได้อย่างรวดเร็วที่สุดนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือพลังงานทั้งจากนิวเคลียร์ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

XS
SM
MD
LG