ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นโยบาย Open Skies ของอาเซียนจะเริ่มต้นปี 2558 แต่สายการบินใหญ่ๆในอินโดนีเซียยังไม่อยากเปิดรับเที่ยวบินเพิ่มจากชาติภาคีอาเซียนด้วยกั


ในปีพ.ศ. 2558 อาเซียนมีกำหนดจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มุ่งจะเชื่อมโยงตลาดการเงิน ลดกำแพงกีดขวางการค้า และผ่อนคลายข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวแรงงานในหมู่ชาติภาคอาเซียนด้วยกันทั้งหมด

อีกนโยบายหนึ่งที่ภาคีอาเซียนตกลงกัน และจะมีผลบังคับใช้ในปีเดียวกันนี้ด้วย คือนโยบาย Open Skies ซึ่งอนุญาตให้สายการบินของชาติภาคีอาเซียนเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันได้ เท่าที่จะมีที่ให้ลงจอดได้ที่สนามบิน

แต่บทความใน Wall Street Journal กล่าวว่า อินโดนีเซียยังไม่อยากจะเปิดน่านฟ้าของตนรับเที่ยวบินเพิ่มจากประเทศอื่นๆในสมาคมอาเซียน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในอีกสองปีข้างหน้า จะมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และขนาดของเศรษฐกิจโดยรวมจะใหญ่กว่าและโตเร็วกว่าของอินเดีย ซึ่งมีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศที่มีนักเดินทางหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ท่าอากาศยานทั้งที่กรุงเทพฯและสิงคโปร์มีผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่าท่าอากาศยานที่ลอนดอน โตเกียวและนิวยอร์ค

อาเซียนเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนของนโยบาย Open Skies มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว และในขณะที่ชาติภาคีอาเซียนอื่นๆกำลังเตรียมตัวกันอย่างแข็งขัน รวมทั้งการสร้างอาคารสถานที่ ทางวิ่ง และสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดการบินใหญ่ที่สุด และมีประชากรมากกว่าใครเพื่อน บอกว่าต้องการเวลาเตรียมตัวนานกว่านี้

รมต. กระทรวงการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย Mari Pangestu บอกว่า สิงคโปร์มีท่าอากาศยานเพียงแห่งเดียวที่ต้องปรับปรุงสำหรับปี 2558 แต่อินโดนีเซียมีท่าอากาศยานมากกว่า 20 แห่งที่จะต้องปรับปรุง เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เวลานานกว่า แต่ให้คำมั่นว่าจะพยายามปรับปรุงท่าอากาศยานใหญ่ๆให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นักวิเคราะห์อย่าง ศาสตราจารย์ Alan Tan ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการบินของ National University of Singapore บอกว่า สายการบินใหญ่ๆในอินโดนีเซีย อย่างเช่น Garuda ใช้อิทธิพลกดดันรัฐบาลให้จำกัดตลาดการบินในประเทศให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในขณะที่ผู้บริหาร Garuda กล่าวว่า อินโดนีเซียจะเปิดตลาดต้อนรับเที่ยวบินจากประเทศอาเซียนอื่นๆเพิ่มขึ้น ถ้าประเทศเหล่านั้นรับรองว่าจะไม่ใช้กฎเกณฑ์อื่นๆมาจำกัดสายการบินของอินโดนีเซีย

แต่อินโดนีเซียไม่ได้อยู่นิ่งเฉย กำลังมีการก่อสร้างท่าอากาศยานเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงท่าอากาศยานที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการขยายและปรับปรุงท่าอากาศยานกรุงจาการ์ต้ามูลค่ากว่าสองพันล้านดอลล่าร์ ทุกวันนี้ท่าอากาศยานกรุงจาการ์ต้ามีผู้โดยสารมากเป็นสองเท่าของขีดความสามารถที่กำหนดไว้ที่ 22 ล้านคนต่อปี

ขณะเดียวกัน Garuda และสายการบินราคาประหยัด Citilink ซึ่งเป็นสาขา ได้สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลล่าร์ ส่วน Lion Air ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดใหญ่ที่สุดของประเทศสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มอีกมากกว่า 200 ลำในปีที่แล้ว

ชาติภาคอื่นๆก็เร่งรุดปรับปรุงและขยายท่าอากาศยานของตน สิงคโปร์กำลังสร้าง Terminal ใหม่ที่จะรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 30% ในปี 2560 ในขณะที่ ฮานอย มนิลา กรุงเทพฯ เสียมเรียบ และเวียงจันทน์กำลังใช้จ่ายเงินแห่งละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านดอลล่าร์เพื่อปรับปรุงท่าอากาศยานของตน

Air Asia สายการบินราคาประหยัดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคกำลังจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงจาการ์ต้า CEO Tony Fernandes ยอมโยกย้ายจากมาเลย์เซียไปอยู่กรุงจาการ์ต้า เพื่อผลักดันและเตรียมรับนโยบาย Open Skies

แต่แม้ Open Skies จะเพิ่มเที่ยวบินระหว่างชาติภาคีอาเซียนด้วยกันมากขึ้น บรรดาผู้บริหารสายการบินอยากเห็นการเปิดเสรี รวมไปถึงการเปิดเที่ยวบินภายในประเทศให้กับสายการบินต่างประเทศ และการอนุมัติให้สายการบินจัดตั้งศูนย์กลางการบินนอกประเทศของตนได้ด้วย
XS
SM
MD
LG