ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความสำเร็จของปฏิบัติการ COBRA ในการปราบปรามแก๊งค์ลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ


ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค ถึง 5 ก.พ ปีนี้ สหรัฐและหลายประเทศในแถบอาฟริกาและเอเชีย ได้ร่วมมือกันปราบปรามองค์กรลักลอบค้าขายสัตว์ป่าระหว่างประเทศ นำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาหลายร้อยคนและของกลางอีกมากมาย ถือเป็นความพยายามปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศครั้งแรกที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้นำภายใต้ชื่อปฏิบัติการ COBRA ซึ่งมีเป้าหมายเจาะจงไปที่การทะลายเครือข่ายอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย หลายประเทศเข้าร่วมในปฏิบัติการนี้ รวมถึงอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซียและไทย

คุณ Steven Galster ผอ.มูลนิธิ Freeland Foundation ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัยและข้อมูลต่างๆในปฏิบัติการ COBRA กล่าวถึงปฏิบัติการนี้ว่ารัฐบาลจีนเป็นผู้เสนอให้มีปฏิบัติการ COBRA ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศและป้องกันการนำเข้าสินค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายจากอาฟริกา

ปฏิบัติการ COBRA ได้นำไปสู่การจับกุมงาช้างผิดกฎหมาย 6,500 กก. งูเป็นๆ 2,600 ตัว นอแรด 22 ชิ้น และผ้าขนสัตว์ Shatoosh ซึ่งผลิตจากขนของสัตว์จำพวกละมั่งในธิเบตราว 10,000 ตัว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน Hong Lei กล่าวเน้นย้ำถึงความสำเร็จของปฏิบัติการ COBRA ว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการปกป้องสัตว์ป่าหายาก และแม้บางคนจะทำท่าไม่สนใจต่อความพยายามของรัฐบาลจีน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็บ่งบอกถึงความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ได้เป็นอย่างดี

ความต้องการสินค้าจากสัตว์ป่าในหมู่ชาวจีนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้การลักลอบค้าขายสัตว์ป่าเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนของสัตว์ป่าหายากในอาฟริกาเช่น งาช้างและนอแรด โดยเมื่อปี พ.ศ 2554 คาดว่ามีการจับกุมงาช้างผิดกฎหมายทั่วโลกราว 44 ตัน คิดเป็นจำวนช้างที่ถูกฆ่าเพื่อเอางาหลายพันตัว และเมื่อต้นเดือนนี้ รัฐบาลกาบองประกาศว่าในช่วง 8 ปีมานี้นักล่าสัตว์ได้ฆ่าช้างในกาบองไปแล้วราว 11,000 ตัว ขณะที่แรดในอาฟริกาก็มีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงไม่ถึง 30,000 ตัวในปัจจุบัน

คาดว่าปัจจุบัน การลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีมูลค่าราว 8 พันล้าน – 1 หมื่นล้านดอลล่าร์ต่อปี ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้คือสิ่งดึงดูดให้นักล่าสัตว์และอาชญากรข้ามชาติกระโจนเข้าสู่ธุรกิจมืดนี้
XS
SM
MD
LG