ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อัตราของภาวะการมีบุตรยากทั่วโลกยังคงตัว


คุณเกร็ทเช่น สตีเว่นส์ นักสถิติแห่งองค์การอนามัยโลกเป็นหัวหน้าการศึกษาวิเคราะห์อัตราของภาวะการมีบุตรยาก

คุณสตีเว่นส์กล่าวว่าการศึกษานี้เป็นการวัดระดับการมีบุตรยากเนื่องจากเห็นว่าปัญหานี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก

การศึกษาครั้งนี้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจสัมโนประชากรหลายร้อยชิ้นใน 190 ประเทศทั่วโลกในช่วงปีพุทธศักราช 2533 ถึงปี2553 คุณสตีเว่นส์หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าการศึกษานี้ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลที่แตกต่างจากการวิจัยอื่นๆก่อนหน้า

คุณสตีเว่นส์กล่าวว่าโดยทั่วไปมักกังวลกันว่าประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน แต่ไม่ค่อยกังวลกันนักเมื่อพูดถึงปัญหาการมีบุตรยาก การศึกษานี้เป็นการวิจัยชิ้นแรกที่วิเคราะห์ปัญหาการมีบุตรยากในประเทศต่างๆทั่วโลก คุณสตีเว่นส์หวังว่าผลการศึกษานี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาและทุกคนกันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้

การศึกษาวัดดูระดับภาวะการมีบุตรยากสองลักษณะได้แก่การมีบุตรยากระดับที่หนึ่งซึ่งเป็นภาวะที่ผู้หญิงไม่สามารถมีบุตรคนแรกได้และภาวะการมีบุตรยากระดับที่สองคือผู้หญิงไม่สามารถมีบุตรคนที่สองได้

คุณสตีเว่นส์หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าในภาพรวมทั้งหมดทั่วโลก ระดับการมีบุตรยากไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงยี่สิบปี ยกเว้นเฉพาะในประเทศแถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าที่ระดับการมีบุตรยากลดลงอย่างมาก โดยภาวะการมีบุตรคนแรกยากที่เกิดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้ลดลงจาก 2.7 เปอร์เซ็นต์ในปีพุทธศักราช 2533 เป็น 1.9 เปอร์เซ็นต์ในปีพุทธศักราช 2553 ส่วนภาวะการมีบุตรคนที่สองยากได้ลดลงจาก 13.5 เปอร์เซ็นต์ในปีพุทธศักราช 2533 เป็น 11.6 เปอร์เซ็นต์ในปีพุทธศักราช 2553

อย่างไรก็ดี หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าการศึกษานี้ไม่ได้วิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมอัตราของภาวะมีบุตรยากจึงลดลงในประเทศ
อาฟริกาทางใต้ทะเลทรายซาฮาร่า

คุณสตีเว่นส์กล่าวว่าพอทราบสาเหตุแต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เธอกล่าวว่ามีการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ได้แก่หนองในแท้และหนองในเทียมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนในประเทศอาฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่ามีบุตรยาก หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าทีมงานตั้งสมมุติฐานว่าคนท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเพศเนื่องจากการระบาดของโรคเอดส์ ทำให้การติดเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธุ์อื่นๆลดลง ช่วยลดภาวะการมีบุตรยากลง

คุณสตีเว่นส์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าแปลกใจที่การศึกษาพบว่าอัตราการมีบุตรยากในระดับทั่วโลกยังคงระดับเดิม ในประเทศพัฒนาแล้ว มีความกังวลกันว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เชื้ออสุจิในฝ่ายชายอ่อนแอและผู้หญิงเริ่มมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น แต่คุณสตีเว่นส์หัวหน้าการวิจัยแห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการศึกษาที่จัดทำขึ้นไม่พบหลักฐานยืนยันว่าปัจจัยทั้งสองอย่างนี้มีผลต่อภาวะการมีบุตรยาก
XS
SM
MD
LG