ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไขข้อข้องใจ... นักวิจัยชี้ว่าลายขาวดำของม้าลายไม่ได้มีไว้อำพรางตัว


ข้อมูลชี้ความเชื่อที่ว่าลวดลายขาวดำของม้าลายช่วยอำพรางเข้ากับลำต้นของต้นไม้ที่อยู่แวดล้อมและช่วยลดความชัดของลำแสง ไม่เป็นความจริง

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:18 0:00
Direct link

ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย California Davis และมหาวิทยาลัย Calgary ในแคนาดา เปิดเผยว่าทีมงานทำการประเมินดูว่าในสายตาของสัตว์ป่าต่างๆ อาทิ สิงโต หมาป่าไฮยีน่าลายจุด และม้าลายตัวอื่นๆ มองเห็นลายขาวดำของม้าลายได้อย่างไรบ้างในระดับเเสงที่แตกต่างกันหลายระดับ

คุณ Amanda Melin ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Calgary ในแคนาดากล่าวว่า เราเชื่อกันมาตลอดว่าลายขาวดำของม้าลายช่วยอำพรางตัวม้าลาย แต่ทฤษฎีนี้ใช้สายตาของมนุษย์เป็นตัวตัดสินตลอดมา

ทีมนักวิจัยพบว่า ลายขาวดำบนตัวม้าลายไม่ได้ช่วยให้ม้าลายอำพรางตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ หรือแม้เเต่ช่วยลดความชัดของเค้าโครงของตัวม้าลายลง เพราะในระยะความใกล้ที่สัตว์ล่าเหยื่อสามารถมองเห็นลวดลายของตัวม้าลาย ก็เป็นไปได้ที่มันจะสามารถได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นของม้าลายเเล้ว

ทีมนักวิจัยย้ำว่า สายตาของคนเราสามารถมองเห็นลวดลายของม้าลายได้อย่างง่ายดายในระยะที่ห่างออกไปราว 50 เมตรในช่วงกลางวัน หรือระยะ 30 เมตรในช่วงพลบค่ำ แต่การมองเห็นจะแตกต่างออกไปสำหรับสายตาของสัตว์ล่าเหยื่อ

และในคืนที่ไม่มีเเสงจันทร์ ทีมนักวิจัยกล่าวว่าสัตว์ล่าเหยื่อและมนุษย์จะมองเห็นลวดลายขาวดำของม้าลายได้ยากมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ห่างไปแค่ 9 เมตรเท่านั้น

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อที่ว่าลวดลายขาวดำของม้าลายช่วยอำพรางเข้ากับลำต้นของต้นไม้ที่อยู่แวดล้อมและช่วยลดความชัดของลำแสง ไม่เป็นความจริง

นอกเหนือไปจากนี้ ในพื้นที่โล่งๆ ซึ่งเป็นที่ที่มักพบเห็นม้าลาย ลายขาวดำบนตัวมันไม่ช่วยลดความคมชัดของเค้าโครงร่างของม้าลายลงแต่อย่างใด สิงโตสามารถมองเห็นม้าลายได้ชัดเจนเช่นเดียวกับที่มันมองเห็นสัตว์ป่าสีธรรมดาทั่วไป

คุณ Tim Caro ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัย California Davis กล่าวว่า ผลการศึกษาชิ้นใหม่นี้ออกมาในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อเดิม ที่ว่าลวดลายของม้าลายช่วยอำพรางตา

ทีมงานไม่ยอมรับทฤษฎีที่ว่านี้ ซึ่งเสนอโดย Charles Darwin กับ Alfred Russell Wallace

การวิจัยนี้ยังไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับลวดลายของม้าลาย ที่ชี้ว่าลายขาวดำบนตัวม้าลายช่วยให้ม้าลายตัวอื่นๆมองเห็นกันและกัน เพราะในขณะที่ม้าลายสามารถมองเห็นลวดลายนี้ได้ในระยะไกลกว่าสายตาของสัตว์ล่าเหยื่อ สัตว์ป่าอื่นๆ ก็สามารถมองเห็นกันและกันได้ แม้จะไม่มีลวดลายบนตัวก็ตาม

ในขณะที่ยังไม่มีการสรุปอย่างเด็ดขาดชัดเจน ทีมนักวิจัยชี้ว่าเป็นไปได้ว่าลวดลายขาวดำของม้าลายช่วยป้องกันไม่ให้ม้าลายถูกเเมลงศัตรูทั่วไปกัด

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG