พรรคฝ่ายค้านเกาหลีใต้โจมตีประธานาธิบดียูน ซุก ยอล ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดของผู้นำเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว ซึ่งถือเป็นการเปิดบทใหม่ของความสัมพันธ์สองประเทศที่หมางเมินกันมาร่วม 12 ปี
ปธน.ยูน ถือเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกในรอบ 12 ปีที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฟูมิโอะ คิชิดะ ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทั้งสองเห็นชอบที่จะรื้อฟื้นการเยือนอีกฝ่ายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และผ่อนคลายความตึงเครียดด้านการค้า เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง บนภัยคุกคามที่มีร่วมกันทั้งจากฝั่งเกาหลีเหนือและจีน
แต่การประชุมสุดยอดของสองผู้นำนี้ กลับไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายค้านเกาหลีมากพอ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ออกโรงต่อต้านการฟื้นสัมพันธ์ที่มองข้ามความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานกับญี่ปุ่น
ลี แจ-มย็อง หัวหน้าพรรค Democratic Party กล่าวว่า “การประชุมสุดยอดเกาหลี-ญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าอับอายและเป็นหายนะของประวัติศาสตร์การทูตเกาหลีใต้” และว่า “เหมือนกับว่าเรากำลังส่งบรรณาการให้กับญี่ปุ่น อ้อนวอนเพื่อให้กลับมาปรองดองและต้องยอมจำนน”
กระแสโจมตีจากฝ่ายค้านเกาหลีใต้เป็นสิ่งที่ได้รับการคาดหมายไว้อยู่แล้ว และสะท้อนถึงความท้าทายของปธน.ยูนในการเดินหน้าความพยายามฟื้นสัมพันธ์กับญี่ปุ่น
ข้อพิพาทแรงงานบังคับ
เมื่อสัปดาห์ก่อน ปธน.ยูน ได้เผยแผนคลี่คลายความบาดหมายระหว่างสองชาติ ในประเด็นแรงงานบังคับในช่วงสงคราม เมื่อปี 1910-1945 โดยภายใต้แผนของปธน.ยูน เกาหลีใต้ยกเลิกข้อเรียกร้องให้บริษัทญี่ปุ่นชดเชยเหยื่อแรงงานบังคับ และให้บริษัทเกาหลีใต้เสนอการชดเชยผ่านกองทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้แทน
ราว 60% ของชาวเกาหลีใต้คัดค้านแผนดังกล่าว อ้างอิงจากการสำรวจหลายแห่งในเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับนักการเมืองฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวต่างประท้วงแผนการของปธน.ยูน ที่หวนให้นึกย้อนไปถึงการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นที่กรุงโซลเมื่อปี 2019 ที่ประเด็นข้อพิพาทเรื่องแรงงานบังคับเป็นประเด็นร้อนในตอนนั้น
การดีดลูกคิดของปธน.ยูน
ยังไม่มีความชัดเจนว่าการโจมตีต่าง ๆ จะมีผลต่อปธน.ยูน ที่คะแนนนิยมตกต่ำที่ 33% อยู่แล้ว อ้างอิงจากการสำรวจของ Gallup Korea ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันศุกร์
ปธน.ยูนยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี ในวาระดำรงตำแหน่งปธน. 5 ปี เฉกเช่นผู้นำเกาหลีใต้คนอื่น ๆ เขาจะไม่สามารถลงชิงชัยในสมัยที่ 2 ได้
เมสัน ริชีย์ อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศจาก Hankuk University ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ปธน.ยูนกำลังเดิมพันว่าแรงกดดันทางการเมืองที่เกี่ยวกับแรงงานบังคับจะลดทอนลงไปในช่วงที่พรรคของเขาเฟ้นหาผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบสีน้ำเงินในการเลือกตั้งปี 2027 “นั่นคือการเดิมพันของ (ปธน.) ยูน – ผมคิดว่าเขาพร้อมจะรับแรงปะทะไปในตอนนี้”
รากฐานที่สั่นคลอน
คำถามคือพรรคฝ่ายค้าน Democratic Party ของเกาหลีใต้จะยุติการโจมตีปธน.ยูนในท้ายที่สุดหรือไม่ และประธานาธิบดีแนวคิดเสรีนิยมคนต่อไปจะเข้ามาแก้ไขแผนการเรื่องแรงงานบังคับหรือไม่
จากประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ชี้ให้เห็นว่าความพยายามของปธน.ยูนนั้นมีรากฐานที่สั่นคลอนอย่างมาก
เมื่อปี 2015 ในยุคอดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน ฮเย ได้บรรลุข้อตกลงว่าญี่ปุ่นจะให้การชดเชยผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี ก่อนที่ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมจะเข้ามายกเลิกแผนการดังกล่าว
หากปธน.ยูน ไม่สามารถโน้มน้าวให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเห็นประโยชน์จากแผนดังกล่าวของเขาได้ ก็จะทำให้มาตรการนี้เจอกับชะตากรรมเดียวกัน ในทัศนะของโรเบิร์ต เคลลี อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Pusan National University ที่ว่า “นี่คือหินก้อนใหญ่ที่ (ปธน.) ยูน ต้องเข็นขึ้นภูเขา” และว่า “และ (นายกฯ) คิชิดะ ต้องให้ความช่วยเหลือเขา หรือจะปล่อยให้แผนการนี้ไม่ได้ผลไปเลย”
ประเด็นทางประวัติศาสตร์
จนถึงขณะนี้ มีสัญญาณไม่มากว่าญี่ปุ่นจะเห็นชอบกับข้อเรียกร้องจากฝั่งเสรีนิยมเกาหลีใต้ อย่างเช่น การให้ออกมาขอโทษต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนในช่วงสงครามหรือการให้การชดเชยโดยตรงกับเหยื่อแรงงานบังคับ
ในการประชุมสุดยอดเมื่อวันพฤหัสบดี นายกรัฐมนตรีคิชิดะไม่ได้กล่าวแสดงความขอโทษครั้งใหม่ แต่ให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลญี่ปุ่น “ยึดมั่นแนวคิดด้านประวัติศาสตร์ทั้งหมดจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ ” รวมถึงหลักปฏิญญาร่วมญี่ปุ่น-เกาหลีเมื่อปี 1998 ที่มีคำขอโทษอยู่ในนั้น
และระหว่างการขึ้นแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำญี่ปุ่น ปธน.ยูน ไม่ได้มีแผนจะขอการชดเชยจากญี่ปุ่นแต่อย่างใด
ญี่ปุ่นยืนกรานว่าประเด็นแรงงานบังคับและการชดเชยอื่น ๆ ได้รับการจัดการไปแล้วในสนธิสัญญาเมื่อปี 1965 ว่าด้วยการจัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว เกาหลีใต้ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ และเงินกู้อีก 500 ล้านดอลลาร์จากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม แรงงานบังคับชาวเกาหลีใต้ เริ่มออกมาเรียกร้องค่าชดเชย ในช่วงเริ่มต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และศาลเกาหลีใต้มีคำตัดสินที่สนับสนุนเหยื่อแรงงานบังคับด้วยเช่นกัน
ความท้าทายร่วมกัน
สำหรับชาวเกาหลีใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยม มีประเด็นใหญ่ที่เสี่ยงสูงสำหรับประเทศ เช่น การรับมือกับภัยคุกคามจากการขยายโครงการขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างรวดเร็ว และประเด็นเรื่องห่วงโซ่อุปทาน
ในทัศนะของ ชเว อึน มี นักวิจัยจาก Asan Institute กล่าวว่าแผนการของปธน.ยูน ไม่ได้มีเป้าหมายในการหาทางออกที่ครอบคลุมในเรื่องแรงงานบังคับ แต่ถือเป็นก้าวที่สำคัญ “ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ .. ผมหวังว่าเป็นไปได้ แต่มันคงไม่ง่ายเช่นนั้น”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชื่นชมแผนการของปธน.ยูนว่า “เป็นบทใหม่ของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ”
ทั้งนี้ การยกระดับความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสหรัฐฯ ที่มองหาความร่วมมือไตรภาคีที่ยิ่งใหญ่เพื่อรับมือภัยคุกคามต่าง ๆ ในภูมิภาค
‘ข้าวห่อไข่' เจอดราม่าในเวทีกระชับสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้
เกือบจะทุกประเด็นที่เกี่ยวกับเวทีประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสัญญาณความสัมพันธ์ทวิภาคี ไม่เว้นแม้กระทั่งเมนูดังของญี่ปุ่นอย่าง “ข้าวห่อไข่” หรือ omurice
เมนูนี้เป็นการผนวกชื่อของไข่เจียว (omelette) เข้ากับข้าว (rice) และกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในรายงานของสื่อ Fuji TV เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการที่ปธน.ยูนย่องเยือนร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตก Rengatei ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าร้านนี้เป็นผู้คิดค้นเมนูข้าวห่อไข่นี้หรือไม่
ในรายงานดังกล่าว ระบุว่า ปธน.ยูน ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นนักชิมและยังเป็นพ่อครัวตัวยง มีความทรงจำ “ที่ไม่รู้ลืม” เกี่ยวกับข้าวห่อไข่ที่เขาได้ลิ้มรสเมื่อวัยเด็ก ที่ร้านเก่าแก่กว่า 128 ปี ในย่านกินซ่าแห่งนี้ เขาได้มาเยือนกรุงโตเกียวบ่อยครั้งเมื่อปี 1966 ในช่วงที่พ่อของเขา ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ใช้เวลา 2-3 ปีที่นั่น อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์กับสื่อ Yomiuri daily
ทั้งทางการญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะยืนยันถึงแผนการเยือนและสถานที่ ขณะที่ร้าน Rengatei โด่งดังในฐานะต้นกำเนิดของข้าวห่อไข่ เมื่อปี 1900 ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กับรอยเตอร์
แม้ว่าชาวต่างชาติจะคุ้นเคยกับซูชิหรือเทมปุระมากกว่า แต่ตำรับ “โยโชคุ” หรืออาหารญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตก อย่างเช่น ข้าวห่อไข่ และทงคัตสึ หรือ หมูชุบเกล็ดขนมปังทอด เป็นอาหารที่คุ้นเคยบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่นอย่างมากเช่นกัน
โยโชคุ คือ ประเภทอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปีแล้ว และบางเมนูเดินทางข้ามพรมแดนไปถึงเกาหลีใต้ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 จากการเดินทางระหว่างกัน ตามการเปิดเผยของโมโตะ คาวาบาตะ อาจารย์จาก Kwansei Gakuin University ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ระดับโลกของร้านอาหารญี่ปุ่น
คาวาบาตะ กล่าวว่า นายกฯ คิชิดะ และปธน.ยูน ได้ร่วมโต๊ะอาหารกันมากกว่าทานสุกี้มื้อเย็น แต่จุดละลายพฤติกรรมของทั้งสองผู้นำ คือ การนั่งร่วมโต๊ะทานข้าวห่อไข่ ที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์สองประเทศที่เย็นชาถึง 12 ปี “เมนูนี้อาจเป็นความพยายามในการสร้างความรู้สึกที่เป็นกันเอง ผ่านเมนูง่าย ๆ ที่ทั้งชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เห็นว่าเป็นเมนู comfort food หรืออาหารเยียวยาจิตใจ”
สำหรับราคาข้าวห่อไข่ของร้าน Rengatei อยู่ที่ 2,600 เยน หรือประมาณเกือบ 20 ดอลลาร์
ส่วนข้าวห่อไข่ของเกาหลีใต้ จะมีแผ่นไข่ที่บางและมีหลายชั้นกว่า ขณะที่ข้าวห่อไข่ของญี่ปุ่นจะเป็นไข่ฟูนุ่ม เยิ้มๆ และทำเป็นรูปทรงอัลมอนด์ที่ห่อข้าวผัดซอสมะเขือเทศเอาไว้ ซึ่งข้าวห่อไข่ในปัจจุบันของญี่ปุ่นเริ่มมาจากภาพยนตร์ของจูโซ อิตามิ เรื่อง Tampopo เมื่อปี 1985
- ที่มา: วีโอเอและรอยเตอร์