ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Germanwatch ระบุไทยคือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว


องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ WMO ระบุว่า แม้ปรากฏการณ์ La Nina ในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อช่วงต้นปีนี้ได้ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงเล็กน้อย แต่ช่วงเวลา 10 เดือนระหว่างเดือน ม.ค - ต.ค ของปี พ.ศ 2555 นี้ ยังถือเป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นอันดับ 9 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติไว้เมื่อ ปี พ.ศ 2393 หรือ 162 ปีที่แล้ว และที่สำคัญคือทุกปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี พ.ศ 2544 – 2554 อุณหภูมิโลกต่างอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 162 ปี

เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คุณ Michel Jarraud ชี้ว่าสิ่งที่น่ากังวลที่สุดเรื่องหนึ่งคือการที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ กล่าวคือมีแผ่นน้ำแข็งอาร์กติกละลายในช่วงเดือน มี.ค – ก.ย เป็นอาณาเขตเกือบ 12 ล้านตารางกม. โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมเปิดเผยให้เห็นว่าแผ่นน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกนั้นมีอาณาบริเวณลดลงราว 18% จากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า เห็นได้ชัดว่าแนวโน้มน้ำแข็งขั้วโลกละลายนั้นไม่เพียงแต่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้น และเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิโลก

เมื่อวันอังคาร องค์กรสิ่งแวดล้อมในเยอรมนีชื่อ Germanwatch ได้ตีพิมพ์รายงานดัชนีความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งวิเคราะห์ถึงผลกระทบของภัยธรรมชาติที่มีต่อประเทศต่างๆ โดย Germanwatch ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว ปากีสถาน เอล-ซัลวาดอร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทย คือประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพอากาศที่เลวร้ายรุนแรง อย่างไรก็ตาม คุณ Sven Harmeling ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

คุณ Harmeling ระบุว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีประชากรโลกเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติรุนแรงมากกว่า 500,000 คน ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว และมีมูลค่าความเสียหายโดยรวมสูงกว่า 2 ล้าน 5 แสนล้านดอลล่าร์
สำหรับรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ WMO จัดทำขึ้นในโอกาสการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงโดฮาในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คือการจัดทำข้อตกลงเพื่อลดก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกฉบับใหม่แทนพิธีสารเกียวโตที่จะหมดอายุลงในปีนี้
XS
SM
MD
LG