ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าหนึ่งในสามของผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ


รายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมากล่าวว่า หนึ่งในสามของผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางเพศ และว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงมีเพิ่มสูงขึ้นจนเรียกได้ว่าเทียบเท่ากับโรคระบาดกระจายไปทั่วโลก โดยไม่เลือกสีผิว อายุ ฐานะทางสังคม หรือเศรษฐกิจ

ผลการวิเคราะห์สถิติการฆาตกรรมระหว่างประเทศชี้ให้เห็นว่า 38% ของผู้หญิงที่ถูกสังหารเป็นฝีมือของสามีหรือผู้ที่อยู่ด้วยกัน

Claudia Garcia-Moreno หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ สิทธิในการเจริญพันธุ์ สุขภาพทางเพศและวัยรุ่น ขององค์การอนามัยโลก และเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ ให้ความเห็นว่า ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศส่งผลกระทบอย่างสูงต่อสุขภาพอนามัยของผู้หญิง

ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ผู้นี้กล่าวว่า ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงดังกล่าว มีโอกาสจะเป็นโรคเศร้าซึม ติดเหล้า หรือทำแท้งมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้ถึงสองเท่าตัว และมีโอกาสจะติดเชื้อโรคที่ถ่ายทอดในการร่วมเพศ รวมทั้งเชื้อ HIV ที่ทำให้เป็นโรค AIDS เพิ่มอีกหนึ่งเท่าครึ่ง และจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงกับการมีบุตรที่มีน้ำหนักตัวต่ำอีกด้วย

รายงานฉบับนี้เป็นผลของการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลปี ค.ศ. 2010 ในเรื่องการแพร่หลายของความรุนแรงต่อผู้หญิงจาก 81 ประเทศทั่วโลก

รายงานระบุภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และแอฟริกา ว่าเป็นสามบริเวณของโลกที่มีอัตราความรุนแรงต่อผู้หญิงจากน้ำมือผู้ที่อยู่ด้วยกันสูงราวๆ 37% และผลการวิเคราะห์ยังบ่งชี้ไว้ด้วยว่า ปัญหานี้มิได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น เพราะอัตราผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทางร่างกายและทางเพศในประเทศพัฒนาแล้วก็สูงถึง 32.7%

Claudia Garcia-Moreno ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก บอกว่าจะต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้มิให้เกิดขึ้น และชี้แนะแนวทางไว้ว่า ทางหนึ่งคือการป้องกันการข่มเหงรังแกเด็ก เด็กที่ถูกข่มเหงรังแก หรือที่เห็นบิดามารดาใช้กำลังรุนแรงต่อกัน เมื่อโตขึ้น มักจะตกอยู่ในสภาพความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง โดยตนเองจะอยู่ในฐานะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ ในอีกด้านหนึ่งคือการสร้างอำนาจให้ผู้หญิง เช่น ให้การศึกษาแม้จะแค่ระดับมัธยม การมีงานทำ หรือโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ แนวทางที่สามคือการเข้าแทรกแซง ซึ่งก็คือการป้องกันในสิ่งที่มองกันว่าเป็นขนบธรรมเนียมของสังคม ที่หลายประเทศเห็นว่าเป็นความรุนแรงในรูปแบบที่ยอมรับได้

รายงานของ WHO ตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายประเทศ แม้จะเพียงพูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงก็ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม และความรุนแรงก็ยังดำเนินต่อไป ความเข้าใจและการพูดถึงอย่างเปิดเผยเป็นการป้องกันที่สำคัญ

WHO จัดทำการแนะแนวที่เน้นย้ำความสำคัญของการอบรมผู้ที่ทำงานทางด้านสุขภาพอนามัยที่จะต้องรู้จักสังเกตเห็นเมื่อผู้หญิงตกในความเสี่ยงที่ผู้ที่อยู่ร่วมด้วยเป็นผู้ใช้ความรุนแรง และต้องรู้จักวิธีที่จะจัดการกับปัญหาได้

รายงานของ WHO กล่าวส่งท้ายว่าจะต้องมีการออกกฎหมายที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เพื่อจำกัดความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วย
XS
SM
MD
LG