ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอนามัยโลกหวั่นเกรงว่า เชื้อมาลาเรียดื้อยาในแถบลุ่มแม่น้ำโขงอาจแพร่ระบาดกว้างขวางออกไป


องค์การอนามัยโลกหวั่นเกรงว่า เชื้อมาลาเรียดื้อยาในแถบลุ่มแม่น้ำโขงอาจแพร่ระบาดกว้างขวางออกไป
องค์การอนามัยโลกหวั่นเกรงว่า เชื้อมาลาเรียดื้อยาในแถบลุ่มแม่น้ำโขงอาจแพร่ระบาดกว้างขวางออกไป

ปีหนึ่ง ๆ มีคนเสี่ยงต่อการเป็นไข้จับสั่นหรือมาลาเรียมากกว่า 2 ล้านคน ในเอเชียมีประชากรมากกว่า 60 % ของประชากรโลกที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย ส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย พม่า บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และ ปาปัวนิวกีนี

การดำเนินงานปราบปรามมาลาเรียในเอเชียคลุมประเทศต่างๆ มากกว่า 20 ประเทศ

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า สิ่งที่น่าวิตกคือ ยาที่ใช้รวมกันในการบำบัดผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งมียา artemisinin ที่สกัดจากสมุนไพรจีนเป็นตัวยาหลัก กำลังสูญเสียความสามารถในการต่อต้านเชื้อมาลาเรีย ยา artemisinin นั้น ส่วนใหญ่ให้ผู้ป่วยรับประทานรวมกับยาอื่นๆ เพื่อรักษาความมีประสิทธิภาพของยาให้คงอยู่ในระยะยาว

Eva Maria Christophel เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกในฟิลิปปินส์กล่าวว่า พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ บริเวณพรมแดนกัมพูชาติดกับประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่ามีเชื้อมาลาเรียดื้อยาเมื่อต้นปี 2552 หากเชื้อดื้อยาแพร่ออกไป ก็จะเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะแทบจะไม่มียาใหม่ไว้รองรับในการต่อต้านโรคนี้ และสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ อาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาเป็นยาที่นำออกมาให้ใช้กันทั่วไปได้ องค์การอนามัยโลกกำลังวิตกว่า เชื้อมาลาเรียดื้อยาอาจแพร่ออกจากบริเวณพรมแดนไทยติดกับกัมพูชาไปยังแอฟริกาตามรูปแบบคล้ายกับการดื้อยาต้านมาลาเรีย อย่าง Cloroquine กับ sulfadoxine-pyrimethamine สมัยคริสต์ทศวรรษ 1960 – 1970

องค์การอนามัยโลกยืนยัน การมีเชื้อมาลาเรียดื้อยาในบริเวณพรมแดนไทยติดกับกัมพูชาเมื่อต้นปี 2552 และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตรวจพบว่า ราว 20 % ของผู้ป่วยในบริเวณพรมแดนพม่าติดกับไทย ยังมีเชื้อมาลาเรียอยู่ในเลือดหลังการบำบัดด้วยยารวมดังกล่าว แทนที่เชื้อจะหายไปหลังการบำบัดภายใน 2 วันหรือน้อยกว่านั้นอย่างที่เคยเป็นมา นายแพทย์ Charles Delacollete ผู้ประสานงานโครงการมาลาเรียแถบลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานนครกล่าวว่า สังเกตเห็นมาหลานปีแล้วว่า ช่วงเวลาที่เชื้อมาลาเรียจะหายไปจากกระแสเลือดหลังการบำบัดนั้น ยาวขึ้น และยังสังเกตเห็นด้วยว่า อัตราส่วนของผู้ป่วยที่ยังมีเชื้ออยู่ในเลือดหลังการบำบัด 2 วัน มีเป็นจำนวนมากขึ้น

นักวิจัยกล่าวว่า การที่พบว่ามีเชื้อมาลาเรียดื้อยามากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจาก มีการขายยาที่ไม่ได้มาตรฐาน และยาปลอม ในระยะไม่กี่ปีมานี้ มีการปราบปรามโรงงานผลิตยาผิดกฏหมายในจีน ขณะเดียวกันก็พบว่า มีผู้ผลิตยาปลอมอยู่ทั่วไป รวมทั้งในกัมพูชาและพม่า

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีสิ่งส่อแสดงว่า เชื้อมาลาเรียดื้อยาชุกชุมในบริเวณภาคใต้ของเวียดนามและตามแนวพรมแดนจีนกับพม่าด้วย

XS
SM
MD
LG