ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภารกิจเสี่ยงตายของทีมสำรวจความเสียหายอนุสาวรีย์จอร์จ วอชิงตันใช้เชือกโรยตัวทำงานบนความสูง 169 เมตรเกือบเทียบเท่าตึก 50 ชั้น


ภารกิจเสี่ยงตายของทีมสำรวจความเสียหายอนุสาวรีย์จอร์จ วอชิงตันใช้เชือกโรยตัวทำงานบนความสูง 169 เมตรเกือบเทียบเท่าตึก 50 ชั้น
ภารกิจเสี่ยงตายของทีมสำรวจความเสียหายอนุสาวรีย์จอร์จ วอชิงตันใช้เชือกโรยตัวทำงานบนความสูง 169 เมตรเกือบเทียบเท่าตึก 50 ชั้น

แม้อนุสาวรีย์วอชิงตัน หรือ อนุสาวรีย์แท่งดินสอ ใจกลางกรุงวอชิงตัน หนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองหลวงของสหรัฐจะยังไม่เปิดให้เข้าชมตามปกติเพราะอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในฝั่งตะวันออกของสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเดินทางไปถ่ายภาพและให้ความสนใจกับภาพการทำงานที่น่าหวาดเสียวของทีมวิศวกรที่ปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายปีนขึ้นไปสำรวจความเสียหายและซ่อมแซมในส่วนยอดอนุสาวรีย์ความสูงกว่า 169 เมตร

จะว่าเป็น Mission Impossible ปฏิบัติการท้าทายของทีมวิศวกรสำรวจและประเมินความเสียหายอนุสาวรีย์จอร์จ วอชิงตัน หรือ อนุสาวรีย์แท่งดินสอ หนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงวอชิงตันก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่เรียกว่า “ทีมสำรวจสถานที่ที่เข้าถึงยากลำบาก” 4 คน ใช้เชือกเพียงไม่กี่เส้นโรยตัวจากยอด-แขวนตัวเองทำงานปีนป่ายบนความสูงกว่า 169 เมตร หรือ ประมาณ 555 ฟุต (เกือบเทียบเท่าตึก 50 ชั้น) บริเวณยอดอนุสาวรีย์ ใจกลางเมืองหลวงของสหรัฐ เพื่อสำรวจความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 5.8 ที่สั่นสะเทือนแถบตะวันออกของสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

คุณสมบัติของทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ประกอบด้วยชาย 2 คนหญิง 2 คน จำเป็นต้องมีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม- วิศวกรรรม รวมไปถึงความเชี่ยวชาญพิเศษในการปีนเขา ก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้มาปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตาย ท้าทายสายตาผู้คนให้คอยลุ้นระทึกอยู่เบื้องล่าง

คุณเจฟ โคเมอร์ (Jeff Comer) ชาวกรุงวอชิงตัน ที่ปั่นจักรยานออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในฝรั่งมุงที่ต้องยอมทิ้งความสนใจจากเรื่องอื่น หยุดลุ้นระทึกไปกับการทำงานบนความสูงของทีมสำรวจทีมนี้

คุณเจฟ บอกว่า เขาเห็นกลุ่มคนที่กำลังมุงถ่ายรูปและก็คิดว่าน่าจะพยายามถ่ายภาพร่องรอยความเสียหายของอนุสาวรีย์เหมือนทุกวันที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อมองเห็นกลุ่มนักสำรวจที่ปีนขึ้นไปอยู่บนยอดสูงสุดขนาดนั้น และเขาก็ไม่เคยเห็นใครปีนขึ้นไปแบบนั้นมาก่อน

ส่วนคุณบอนนี่ แซกเซ็น (Bonnie Saxen) นักท่องเที่ยวจากรัฐไอโอวา บอกว่าในตอนแรกเธออดคิดไม่ได้ว่าคนที่กำลังปีนขึ้นไปบนยอดอนุสาวรีย์น่าจะเป็นพวกโรคจิตที่ปีนขึ้นไปก่อกวน แต่ในที่สุดเธอก็พบว่า ว่า แท้ที่จริงแล้วพวกเขาคือ นักสำรวจมืออาชีพที่กำลังทำงานท้าทายสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมซ่อมแซมอนุสาวรีย์จากเหตุแผ่นดินไหว และก็ดีใจที่เธอไม่เธอไม่ได้รับคัดเลือกให้ทำงานบนความสูงแบบนั้น

ขณะที่ปฏิบัติการซ่อมแซมความเสียหายในขั้นต้นนี้ กลุ่มทีมสำรวจจะใช้เวลา 5 วันเพื่อตรวจสอบความเสียหายของหินทีละก้อนอย่างละเอียดจากภายนอก ด้วยการเคาะหินแต่ละก้อนเพื่อฟังเสียง การแตกร้าว และใช้กล้องดิจิตอลถ่ายภาพ ตรวจสอบข้อมูลใน i-Pad เปรียบเทียบข้อมูลการสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1999

คุณนิโคลเลทท์ วิลเลี่ยม (Nikolette Williams) เจ้าหน้าที่ Park Ranger บอกว่า การสำรวจความเสียหายภายในของอนุสาวรีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการพบจุดเสียหายร้ายแรงบริเวณส่วนยอดแหลมที่เป็นปิรามิดที่มีรอยแตกขนาดใหญ่จนมีน้ำซึมเข้ามา รวมไปถึงลิฟท์โดยสารขึ้นลงภายในอนุสาวรีย์ แต่สำหรับภายนอกนั้นต้องฝากความหวังเอาไว้กับทีมสำรวจทั้ง 4 คน โดยเฉพาะรอยแตกร้าวที่ยาวกว่า 4 ฟุต ที่สังเกตเห็นได้ชัดจากระยะไกล

แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและงบประมาณสำหรับการซ่อมแซมได้จนกว่าจะถึงช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งหมายความว่าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้จะยังคงปิดต่อไป แต่สิ่งที่พอจะเป็นข่าวดีได้บ้างก็คือความมั่นใจในโครงสร้างหลักของแท่งหินขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปี สัญลักษณ์ของกรุงวอชิงตันยังคงอยู่ในสภาพดีและจะยังยังยืนตระหง่านใจกลางกรุงวอชิงตันให้ใครๆได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกต่อไปอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ใครที่มีโอกาสไปที่กรุงวอชิงตันก็อาจจะแหงนมองขึ้นไปให้กำลังใจ หรือจะถ่ายรูปกับนักสำรวจเสี่ยงตายบนยอดอนุสาวรีย์จอร์จ วอชิงตันไปก่อนก็ได้

XS
SM
MD
LG