ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อเอเชียเพิ่มสูงขึ้น


US Dollars
US Dollars

วิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับเอเชียเพิ่มมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้สหรัฐลดการบริโภค และค่าเงินเพื่อแก้ปัญหา

วิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงเกือบสามปีมานี้ ทำให้นักวิเคราะห์พุ่งความสนใจไปที่การขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐกับเอเชีย

และแม้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อเอเชียลดลงในตอนแรกเริ่ม แต่เวลานี้กลับสูงขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความวิตกกังวลตามมาเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจโลก

National Bureau of Asian Research จัดการสัมนาในเรื่องนี้ที่สถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน

ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐแสดงให้เห็นว่า ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐโตในอัตรา 3.2 % กระตุ้นโดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุน ปัญหาก็คือ ส่วนใหญ่ของการโตมาจากการนำเข้าที่ 9 % ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 5.8 %

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอย่างนาย Ashley Tellis ของสถาบัน Carnegie เชื่อว่า ระบบทุนนิยมจะยังคงอยู่รอดต่อไปได้ แม้จะเกิดวิกฤติการณ์ครั้งนี้ และเชื่อกันว่า แนวโน้มในอนาคตจะมีการออกกฎข้อบังคับมาใช้ควบคุมการทำงานของระบบมากขึ้น

คู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น และอาจารย์ William Grimes ซึ่งสอน Industrial Relations อยู่ที่มหาวิทยาลัย Boston บอกว่า วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบสถาบันและตลาดการเงินในสหรัฐ แต่ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในญี่ปุ่น

อาจารย์ William Grimes กล่าวว่า ไม่มีประเทศอุตสาหกรรมประเทศใดถูกผลกระทบมากเท่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะสถาบันการเงินของญี่ปุ่นไม่มีสินทรัพย์ที่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนในสหรัฐ และมีฐานเงินทุนที่มั่นคง

การส่งออกของญี่ปุ่นลดลงครึ่งหนึ่งในต้นปี 2009 การผลิตรถยนต์ ซึ่งปกติแล้วแข็งขันมาก ลดลงมากกว่า 50 % รัฐบาลญี่ปุ่นต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินมากกว่า หนึ่งหมื่นห้าพันล้านดอลล่าร์ และเร่งเร้าให้ทั่วโลกดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

ส่วนในด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

นาย Ashley Tellis นักวิเคราะห์ของสถาบัน Carnegie ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้น เศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ต่อไป แต่ในระยะกลางระหว่าง 7 ถึง 15 ปีข้างหน้า สหรัฐจะต้องพิจารณาตนเองอย่างจริงจัง ในขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตแข็งแรงมากขึ้น

คำถามที่สหรัฐจะต้องหาคำตอบให้ได้คือ จะสามารถชำระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสามปีที่ผ่านมาได้หรือไม่ และจะวางแผนรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้อย่างไร

ส่วนระยะยาวนั้น นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า จะต้องลดค่าเงินดอลล่าร์ และลดการบริโภคเพื่อแก้การขาดดุลการค้าให้ได้

นาย Ashley Tellis นักวิเคราะห์ของสถาบัน Carnegie กล่าวว่า การบริโภคของสหรัฐเป็นแรงหนุนแนวโน้มทางเศรษฐกิจโลกในช่วง 20-30 ปีที่แล้วมา โดยอาศัยกระแสเงินที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีอัตราการออมทรัพย์สูงกว่าของสหรัฐ

นอกจากนี้ การผลิตทางอุตสาหกรรมในสหรัฐลดลง ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ แม้นักนักเศรษฐศาสตร์หลายรายจะให้ความเห็นว่า ถ้าจะแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ สหรัฐจะต้องเพิ่มการผลิตเพื่อลดการนำเข้าและพึ่งตลาดในประเทศให้มากขึ้น แต่วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจในสหรัฐเป็นจำนวนมากปิดทำการ และการพึ่งการนำเข้ายิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

XS
SM
MD
LG