ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความล้มเหลวของ Supercommitee จากประเด็นการเมืองกับอนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ


ความล้มเหลวของ Supercommitee จากประเด็นการเมืองกับอนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ความล้มเหลวของ Supercommitee จากประเด็นการเมืองกับอนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

คณะกรรมาธิการชุดพิเศษของรัฐสภาสหรัฐ “Supercommitee” ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐลงอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์ในช่วงเวลา 10 ปี

คณะกรรมาธิการชุดพิเศษของรัฐสภาสหรัฐหรือ “Supercommitee” ประสบความล้มเหลวในการตกลงกันว่าจะผสมผสานมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมกับมาตรการขึ้นภาษีออกมาในรูปแบบใด เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณ 1 ล้านล้าน 2 แสนล้านดอลล่าร์ในช่วง 10 ปี สร้างความขุ่นเคืองให้กับบรรดาประชาชนผู้เฝ้ารอข้อตกลงที่ว่านี้อย่างใจจดใจจ่อ


วุฒิสมาชิก Kent Conrad จากพรรคเดโมแครตระบุว่าทั่วโลกต่างจับตามองข้อตกลงดังกล่าว โดยอนาคตทางเศรษฐกิจของอเมริกาและทั่วโลกขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐสภาสหรัฐครั้งนี้ ด้านนักวิเคราะห์การเมือง Stuart Rothenberg ชี้ว่าดูเหมือนความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่องนโยบายการขึ้นภาษีและการลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของทั้งสองพรรค คืออุปสรรคสำคัญของคณะกรรมการพิจารณาการตัดลดงบประมาณ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในการพิจารณามาตรการลดค่าใช้จ่ายในช่วงหลายเดือนมานี้

คุณ Stuart Rothenberg ระบุว่าการประณีประณอมในเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีหน้าเป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดี และไม่มีฝ่ายใดต้องการเสียคะแนนเสียงในช่วงนี้ นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่าหากสมาชิกพรรครีพับลิกันออกเสียงสนับสนุนการขึ้นภาษีแล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมของพรรคเกิดไม่พอใจ อาจกลายเป็นการทำลายฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน และหากสมาชิกพรรคเดโมแครตเห็นด้วยกับมาตรการตัดสวัสดิการสังคม ก็จะสร้างความขุ่นเคืองให้กับฝ่ายเสรีนิยมของพรรคเดโมแครตเช่นกัน

การที่ Supercommitee ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องแผนลดยอดขาดดุลงบประมาณ จะมีผลให้ต้องนำมาตรการลดงบประมาณทุกภาคส่วนโดยอัตโนมัติมาใช้ คือการลดงบประมาณของโครงการและหน่วยงานต่างๆในประเทศลงทั้งหมด 600,000 ล้านดอลล่าร์ และลดงบประมาณทางการทหารลงอีก 600,000 ล้านดอลล่าร์ โดยจะเริ่มต้นใช้แผนที่ว่านี้ในปี ค.ศ 2013

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ Leon Panetta เตือนว่าการลดงบประมาณทางทหารลง 600,000 ล้านดอลล่าร์จะทำให้กองทัพสหรัฐมีขนาดเล็กลงที่สุดในรอบ 70 ปี ขณะที่คุณ Michael O’Hanlon นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของสถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตันชี้ว่า การตัดงบประมาณทุกภาคส่วนโดยอัตโนมัตินั้นถือเป็นฝันร้ายด้านความมั่นคงของสหรัฐ และในที่สุดแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อันใด

ด้านคุณ Mariana Rowden ประธานสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกอเมริกัน เชื่อว่าการตัดงบประมาณโดยอัตโนมัติจะส่งผลอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหน่วยงานด้านศุลกากรถูกตัดงบประมาณไปด้วย คุณ Rowden บอกด้วยว่าสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอาจตอบสนองต่องบประมาณที่ถูกตัดด้วยการปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ด้านการนำเข้าและส่งออก เช่นขึ้นค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ ซึ่งคุณ Rowden เชื่อว่าล้วนเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ

คุณ Mariana Rowden ประธานสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกอเมริกัน สรุปว่าการตัดงบประมาณทุกภาคส่วนโดยอัตโนมัติหรือ sequestration นั้นไม่มีผลดีต่อฝ่ายใดเลย

XS
SM
MD
LG