ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประท้วงในตุรกีสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางจิตวิญญาณในสังคมที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่เคร่งศาสนาใด


การประท้วงในตุรกีที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จตุรัสทักซิมในนครอิสตันบุล ดูเหมือนมีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาสวนสาธารณะของรัฐบาล แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าแท้จริงแล้วมีนัยยะสำคัญอยู่ที่การแสดงพลังของประชากรที่ไม่เคร่งศาสนา เพื่อต่อต้านนโยบายของรัฐบาลตุรกี

อาจารย์ Gul Berna Ozcan ผู้เชี่ยวชาญด้านตุรกีที่ Royal Holloway University of London บอกว่าประเด็นสำคัญคือพรรครัฐบาล AK ได้พลาดโอกาสสำคัญในการแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ศาสนาอิสลามกับระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถอยู่ร่วมกันและสนับสนุนกันและกันได้

พรรค AK คือพรรคการเมืองแนวทางอิสลามที่มีนายกฯ Recep Tayyip Erdogan เป็นหัวหน้าพรรคและครองอำนาจปกครองมานานถึง 10 ปี โดยเมื่อ 2 ปีก่อน พรรค AK ชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 50% ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากหากเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป แต่เนื่องจากพรรค AK ใช้กฎหมายอิสลามในการปกครอง เช่นควบคุมการขายสุรา ห้ามการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งในที่สาธารณะและคุกคามสื่อมวลชน จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อประชาชนกลุ่มที่ไม่เคร่งในศาสนาจนนำไปสู่การประท้วง

ศาสตราจารย์ Bill Park แห่งมหาวิทยาลัย King’s College ในกรุงลอนดอนให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกีเป็นการประท้วงของกลุ่มคนที่ชาวตุรกีเรียกว่า “50% ที่เหลือ” หมายถึงประชาชนอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้เลือกรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่พอใจของประชาชนกลุ่มนี้ที่เชื่อว่ารัฐบาลเอาใจกลุ่มมุสลิมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ศาสตราจารย์ Bill Park ชี้ว่าแม้การประท้วงครั้งนี้จะไม่ได้ถึงขั้นเป็นการปะทะทางจิตวิญญาณของตุรกี แต่ก็เป็นความขัดแย้งที่มีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้มีอำนาจในตุรกีที่ต้องพยายามหาทางปรองดองเรื่องนี้ให้ได้ เพราะหากการประท้วงยืดเยื้อต่อไปจะไม่เป็นผลดีต่อความตั้งใจของผู้นำตุรกีที่ต้องการปรับแก้รัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจการปกครอง และความพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
XS
SM
MD
LG