ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เผยแนวคิดหลัก 3 ประการ พื้นฐานนโยบายต่างประเทศ "โดนัลด์ ทรัมป์"


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:30 0:00


ในขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ต่างเชื่อกันว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ แต่นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า ทรัมป์แสดงจุดยืนด้านการต่างประเทศอย่างชัดเจนมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980

เมื่อปี ค.ศ. 1987 โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีอายุ 41 ปี ได้ลงโฆษณาแบบเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ซึ่งเขาได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านการทหารของรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยนั้น และขอให้อเมริกาหยุดให้เงินกับประเทศที่สามารถป้องกันตนเองได้ ซึ่งใกล้เคียงกับนโยบายต่างประเทศที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้

คุณ Thomas Wright นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน ได้รวบรวมคำให้สัมภาษณ์ คำปราศรัย และคำแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในอดีต รวมทั้งโฆษณาที่เขาลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ และสรุปได้ว่า ทรัมป์ได้เริ่มสนใจการเมืองโลกมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 และไม่เคยเปลี่ยนมุมมองตั้งแต่นั้น

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า ความเชื่อหลักด้านการต่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่าน ซึ่งดูเหมือนจะสานต่อไปถึงในช่วงที่ดำลงตำแหน่งประธานาธิบดี มี 3 ประการ

หนึ่ง คือทรัมป์ไม่ค่อยพอใจนักกับพันธมิตรต่างประเทศของสหรัฐฯ และต้องการละทิ้งมิตรประเทศเหล่านั้น

สอง คือทรัมป์ต่อต้านข้อตกลงการค้าต่างๆ มาตลอด และต้องการใช้กำแพงภาษีและมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อกอบกู้ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่มีอเมริกาเป็นผู้นำขึ้นมาใหม่

และสาม คือทรัมป์ค่อนข้างโอนอ่อนต่อรัฐบาลอำนาจนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย

ซึ่งเมื่อรวมทั้งสามข้อด้วยกันแล้ว อาจพูดได้ว่าแนวนโยบายต่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ค่อนข้างเน้นความโดดเดี่ยว พิสูจน์ได้จากการหาเสียงในช่วงท้ายๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามประกาศหลักการด้านการต่างประเทศทั้งสามข้อดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น การเรียกสมาชิกองค์การนาโต้บางประเทศว่า “กาฝาก” การกล่าวหาจีนว่ากำลังฉีกทึ้งอเมริกาเป็นชิ้นๆ และการรับปากว่ายกเลิกข้อตกลงการค้าบางอย่าง รวมทั้งยกย่องประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งตนพร้อมจะทำธุรกิจด้วย

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทัศนติด้านการต่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งสามข้อนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่นักวิเคราะห์ Thomas Wright เชื่อว่าอาจเริ่มต้นมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และการลงทุนของญี่ปุ่นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนครนิวยอร์กเมื่อทศวรรษ 1980

ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันอังคาร ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเชื่อว่า คำพูดที่แข็งกร้าวของทรัมป์ ในเรื่องจีนและองค์การนาโต้นั้น อาจเป็นเพียงการเรียกคะแนนเสียงเท่านั้น แต่หลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นกำลังตั้งข้อสงสัยว่า ทรัมป์จะผ่อนเพลาแนวคิดที่ว่านี้ลง หรือจะยังคงไม่ประนีประนอมต่อไป เมื่อเขาได้เข้าไปนั่งที่ทำเนียบขาว

ศาสตราจารย์ Michael Barnett แห่งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย George Washington กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่คำพูดหรือคำสัญญาที่ผู้สมัครคนใดแถลงไว้ในช่วงหาเสียง จะไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริงเมื่อผู้สมัครคนนั้นได้รับเลือก ซึ่งในกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตนเชื่อว่าแนวคิดหลายอย่างคงจะถูกคัดค้านโดยคณะที่ปรึกษาและบรรดาประเทศพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถอนการสนับสนุนทางทหารต่อญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หรือสมาชิกองค์การนาโต้ การจัดทำข้อตกลงการค้า ข้อตกลงด้านการควบคุมภาวะโลกร้อน ตลอดจนข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

ศาสตราจารย์ Barnett เชื่อว่าแนวคิดด้านนโยบายต่างประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะถูกทดสอบอีกครั้งในการประกาศชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งทรัมป์บอกว่าตนจะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญที่เก่งกาจในเรื่องนั้นๆ มาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ

ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์ผู้นี้ยอมรับว่า “ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความไม่แน่นอนในระดับสูงให้เกิดขึ้นทั่วโลกแล้วในขณะนี้”

(ผู้สื่อข่าว Masood Farivar รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG