ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘หัวใจ 3 มิติ’ จาก 3D Printer ช่วยให้แพทย์ศึกษาหัวใจจำลองขนาดเท่าของจริงได้ก่อนลงมือผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ


เครื่องพิมพ์ 3 มิติช่วยให้แพทย์สร้างหัวใจขนาดเท่าของจริงเพื่อใช้ประกอบการผ่าตัด

3D Printer หรือเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะทางธุรกิจ เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิง หรือทางการแพทย์ ล่าสุดแพทย์ที่ Children’s National Medical Center ในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยผลงานใหม่จากเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ นั่นคือหัวใจขนาดเท่าของจริง ซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้

คณะแพทย์ที่ Children’s National Medical Center ระบุว่าไม่มีเทคโนโลยีแบบไหนที่จะให้ภาพหัวใจที่สมบูรณ์แบบ เท่ากับการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการสร้างหัวใจจำลองออกมา โดยเครื่องพิมพ์ที่ว่านี้ตกราคาเครื่องละ 250,000 ดอลล่าร์ หรือราว 7,500,000 บาท ซึ่งทาง ร.พ นำมาใช้ตั้งแต่ 18 เดือนที่แล้ว

กระบวนการสร้างหัวใจสามมิตินี้เริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพหัวใจผู้ป่วยแบบสามมิติ ด้วยระบบสร้างภาพจากการสั่นพ้องของคลื่นสนามแม่เหล็กหรือ MRI การทำ Computer Tomography หรือถ่ายภาพตัดขวางด้วยรังสีเอ็กซ์ และการทำอัลตร้าซาวน์ จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจะนำภาพนั้นมาประกอบและเรียงต่อกัน ก่อนที่จะส่งเข้าเครื่องพิมพ์แบบสามมิติเพื่อพิมพ์ออกมาเป็นหัวใจจำลองขนาดเท่าของจริง

คุณ Alex Krieger ฝ่ายนวัตกรรมการแพทย์ที่ Children’s National Medical Center ในกรุงวอชิงตัน บอกว่าการพิมพ์หัวใจสามมิติออกมานี้ใช้เวลาประมาณ 12 ชม.หากเป็นหัวใจขนาดปกติ แต่ถ้าเป็นหัวใจขนาดเล็กแบบหัวใจเด็กอาจใช้เวลาน้อยกว่าคือราว 5-6 ชม. โดยเครื่องพิมพ์นี้จะพ่นพลาสติกออกมาเรียงต่อกันที่ละชั้น ตั้งแต่ส่วนล่างสุดจนถึงส่วนบนสุด และสามารถใช้วัสดุที่ต่างกัน 2 ชนิดใส่ลงในเครื่องพิมพ์ เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีทั้งส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มและแข็งแรง ให้ความรู้สึกเหมือนหัวใจจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ในทางการแพทย์ รวมทั้งการสร้างแบบจำลองของอวัยวะสำคัญส่วนอื่นๆนอกเหนือจากหัวใจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำสำเร็จในอีกไม่กี่ปี

รายงานจาก Adam Greenbaum / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล





XS
SM
MD
LG