ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยไทยก้าวหน้าใกล้ขั้นสุดท้ายในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก


นักวิจัยไทยก้าวหน้าใกล้ขั้นสุดท้ายในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก
นักวิจัยไทยก้าวหน้าใกล้ขั้นสุดท้ายในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียชีวิตปีละหลายพันคน ประเทศไทยหวังที่จะผลิตวัคซีนดังกล่าวในราคาย่อมเยาสำหรับตลาดภาคพื้นส่วนนี้ได้ภายในเวลา 10 ปี

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกนั้น มีคนติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งมียุงเป็นพาหะ ราว 50 ล้านคนในมากกว่า 100 ประเทศ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า รูปแบบของฝนตกในพื้นที่เขตร้อนซึ่งตกชุกกว่าที่อื่น ช่วยการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามพัฒนาวัคซีนที่จะใช้รับมือกับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ไทยและกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทดสอบขั้นต้นที่ประสบความสำเร็จหลายรอบ ทำให้มีความหวังว่า จะสามารถผลิตวัคซีนไข้เลือดออกออกมาใช้ได้ในเชิงพานิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

ในวันจันทร์ กระทรวงสาธารณสุขประกาศอนุญาตให้บริษัทเอกชน Bionet-Asia ดูแลการดำเนินงานด้านการพัฒนาและผลิตวัคซีนดังกล่าว

ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในแง่การผลิตวัคซีนไข้เลือดออกแล้ว การทำงานถึงระดับนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสมความรู้ของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทยในเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา จนประสพความสำเร็จและสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบที่ทำงานได้ผลในห้องทดลอง

ในแต่ละปี คนในประเทศไทยราว 200,000 คนล้มป่วยเนื่องจากไข้เลือดออก โดยเฉพาะ เด็กๆ มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด เพราะขาดภูมิคุ้มกันที่คนเราพัฒนาขึ้นมาในวัยผู้ใหญ่

ดร. พูลสุข กีฬาแปง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เพราะเป็นวัคซีนรุ่นแรก ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการปรับแก้เพื่อให้ได้วัคซีนที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น หากประสพความสำเร็จ ก็จะสามารถช่วยเด็กๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรคนี้แพร่ระบาด และต้องมีการรวมกำลังกันทุกด้านเพื่อให้งานสำเร็จ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ยังมีปัญหาท้าทายในการพัฒนา คือ จะต้องให้ได้วัคซีนที่ฉีดเข็มเดียว สามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 ชนิด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน

นายวิทูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท Bionet-Asia คาดว่า ทางบริษัทมุ่งหวังให้มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาดในราคาย่อมเยา ซึ่งจะต้องใช้ทุนราว 100 ล้านดอลลาร์ กว่าจะสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวออกสู่ตลาดได้ เขากล่าว่า ตลาดหลักในส่วนภาคพื้นนั้น รวมทั้ง อินเดีย อินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน

XS
SM
MD
LG