ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ว่าที่นักศึกษาใหม่ เตรียมตัวเรียนต่อในสหรัฐฯ อย่างไร ท่ามกลางความท้าทายโควิด-19?


Pongtorn Techaboonakho (L) and Sirirut Sonjai (R) will be studying in the U.S. this fall.
Pongtorn Techaboonakho (L) and Sirirut Sonjai (R) will be studying in the U.S. this fall.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:45 0:00

ศิริรัตน์ สนใจ วัย 25 ปี ได้รับเลือกให้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทใน 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แต่การระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ข่าวดีที่เธอรอคอย เจือไปด้วยความกังวล ตามมาด้วยความท้าทายหลายอย่างที่ต้องจัดการ

“หลาย ๆ อย่างที่เราคาดหวังว่าจะเป็น ประสบการณ์ที่เราคาดหวังว่าจะได้รับจากการเรียน ลดลงพอสมควร”

หลังจากที่ตัดสินใจเลือกเรียนด้านนโยบายสาธารณะ (Master in Public Policy) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) รัฐแมสซาชูเซตส์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะจากงานประจำที่ทำอยู่กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ศิริรัตน์ หรือ มุก ได้ทำเรื่องขอเลื่อนไปเรียนในปีการศึกษาหน้า แต่กลับถูกฮาร์วาร์ดปฏิเสธคำร้อง

"ที่ฮาร์วาร์ดจะมีนโยบายที่ค่อนข้างเข้มงวด ก็คือมี conditions (เงื่อนไข) ให้ 3 อย่างเท่านั้นที่จะ defer (ขอเลื่อน) จริง ๆ มีเยอะมาก ประมาณ 80% เลยที่นักศึกษาจะขอเลื่อน ขอ defer ไปปีหน้า แต่ว่าด้วยความที่มหาวิทยาลัยก็ให้เหตุผลในเรื่องของ business model (โมเดลธุรกิจ) ของเขาด้วย แล้วก็ในเรื่องของการที่อาจจะไป crowd out (เบียดที่) การสมัครของนักเรียนในปีหน้า เขาเลยค่อนข้างเข้มงวดกับนักศึกษาที่จะขอไปเรียนปีหน้า ก็เลยกลายเป็นว่ามุกจะต้องเริ่มเรียนในปีนี้ ต้องเรียนเลยตั้งแต่ในเดือนสิงหาคมในปีนี้ค่ะ"

Sirirut Sonjai is a an incoming student at Harvard University amid uncertainties posed by Covid-19.
Sirirut Sonjai is a an incoming student at Harvard University amid uncertainties posed by Covid-19.

จะเรียนกันแบบไหน? ความไม่แน่นอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่นิ่ง

มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในสหรัฐฯ มีนโยบายที่แตกต่างกัน ในการกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 บางแห่งเลือกที่จะใช้การผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และในชั้นเรียน ในขณะที่บางแห่งยังไม่ตัดสินใจจนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม

ส่วนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะยังเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงตามปกติในเดือนกันยายน แต่จะในรูปแบบใดนั้น ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ศิริรัตน์เล่าว่า เธอและเพื่อนนักศึกษาหลายคนกังวลเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่าของการศึกษา หากต้องเรียนแบบออนไลน์

"คลาสส่วนใหญ่ based on discussion (เน้นไปที่การอภิปราย ถกเถียง) หลัก ๆ แล้วมันต้องมีการถกเถียงในห้อง มีการแสดงความคิดเห็น ถามตอบแบบแอคทีฟมาก ๆ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าการเรียนออนไลน์ การเรียนผ่าน Zoom จะทำให้ประสบการณ์ตรงนั้นหายไปมากน้อยแค่ไหน...ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องของไทม์โซน ซึ่ง 50% ของนักเรียนคณะมุกก็คืออยู่ทั่วโลกเลย แล้วคลาสที่ต้องการใช้ discussion ขนาดนั้นคือจะต้องสามารถจัดการให้นักศึกษาทุกคนได้รับประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งคิดว่าเป็นความยากและนักศึกษาหลายคนก็เป็นกังวล"

The John Harvard statue at Harvard University, a popular tourist attraction at the campus in Cambridge, Mass, sits adorned with a medical mask as students prepared to leave campus, Saturday, March 14, 2020.
The John Harvard statue at Harvard University, a popular tourist attraction at the campus in Cambridge, Mass, sits adorned with a medical mask as students prepared to leave campus, Saturday, March 14, 2020.

ด้าน พงศ์ธร เตชะบุญอัคโข ซึ่งกำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อด้านการประพันธ์เพลง (music composition) ที่ San Francisco Conservatory of Music ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แสดงความกังวลในเรื่องเดียวกัน เขาเกรงว่าประสบการณ์บางอย่างจะสูญเสียไป หากต้องเรียนออนไลน์

“โรงเรียนมันตั้งอยู่ในศูนย์กลางของ art square มี San Francisco Symphony ถ้าผมต้องเรียนออนไลน์มันก็ขาดโอกาส ขาดคอนเนคชั่นที่ควรจะได้ ผมว่ามันก็ไม่คุ้มที่จะเรียนครับ ถ้าเรียนออนไลน์...จากประสบการณ์เรียนออนไลน์ ผมว่ามันไม่เวิร์ค มันไม่มี eye contact (การสบตา) ที่แน่ชัด ผมคิดว่าการเรียนศิลปะ ดนตรี หรือศิลปศาสตร์ด้านต่าง ๆ มันต้องตัวต่อตัวแบบไม่ใช้เทคโนโลยี จะเวิร์คกว่า ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แล้วเขาเสนอให้เรียนออนไลน์ ผมก็คงต้องคิดใหม่"

Despite Covid-19, Pongtorn Techaboonakho will be studying at San Francisco Conservatory of Music.
Despite Covid-19, Pongtorn Techaboonakho will be studying at San Francisco Conservatory of Music.

ทั้งศิริรัตน์ และ พงศ์ธร ยังมองว่าการเรียนออนไลน์ไม่คุ้มกับค่าเล่าเรียนแสนแพงที่ต้องจ่าย หลักสูตรปริญญาโทของ ศิริรัตน์​ มีค่าเทอมปีละ 54,000 ดอลล่าร์ หรือประมาณกว่า 1,700,000 บาท ส่วนค่าเทอมของพงศ์ธร อยู่ที่ 48,000 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 1,500,000 บาท

คาดนักศึกษาต่างชาติลด หลังเจอปัญหาวีซ่า-การเดินทางเข้าสหรัฐฯ

การขอวีซ่าและการเดินทางเข้าประเทศก็เป็นอีกข้อกังวลหนึ่ง เนื่องจากสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยและอีกหลายประเทศยังคงงดให้บริการด้านวีซ่า ในขณะที่อเมริกายังปิดน่านฟ้าไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ อย่างน้อยจนถึงปลายเดือนมิถุนายน

“เรื่องวีซ่าก็กังวลนิดนึงเรื่องการดำเนินการด้านเอกสาร มันก็ค่อนข้างดูดีเลย์ อย่างเช่น ผมต้องไปขอ statement จากธนาคาร ผมเพิ่งขอได้เมื่อต้นเดือนนี้ เพราะต้องรอห้างเปิด หรือสาขาใหญ่เปิด ทำให้ทุกอย่างดีเลย์ไป ผมก็เลยเริ่มรู้สึกกังวลว่าถ้าเอกสารไปไม่ครบ หรือว่ายังไม่ไปถึง บางอย่างต้องส่งเป็นเอกสารตัวจริงไป ผมก็ไม่รู้ว่าการทำการของไปรษณีย์ไทยจะมีผลกระทบไหม แต่ผมคิดว่าทุกอย่างล่าช้าไปเรื่อย ๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าสถานทูตอเมริกาที่ไทยจะเปิดทำการหรือเปล่า หรือว่าให้เข้าไปขอวีซ่าอะไรยังไง มีความกังวลประมาณนึง” พงศ์ธรกล่าว

ผลการสำรวจในเดือนพฤษภาคมของ Institute of International Education หรือ IIE ซึ่งดูแลเรื่องโครงการแลกเปลี่ยน และการให้ความช่วยเหลือนักศึกษานานาชาติ พบว่าประมาณ 90% ของสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ คาดว่าจำนวนนักศึกษาต่างชาติในปีการศึกษานี้จะลดลง จากที่มีเกือบ 1,100,000 คนในปีก่อน หรือประมาณ 5.5% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดในอเมริกา โดยสาเหตุหลักมาจากการไม่สามารถขอวีซ่า หรือเดินทางเข้าอเมริกาได้ ในขณะที่บางส่วนก็ไม่ต้องการเรียนแบบออนไลน์

นักศึกษา-มหาวิทยาลัย ปรับใช้กลยุทธ์เชิงรุก

San Francisco Conservatory of Music, California.
San Francisco Conservatory of Music, California.

สิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้ ศิริรัตน์​ และพงษ์ธร อุ่นใจได้บ้าง คือการที่มหาวิทยาลัยของทั้งคู่ มีความตื่นตัวเรื่องความกังวลของนักศึกษา และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะโน้มน้าวให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความหลากหลายในชั้นเรียนแล้ว ค่าเทอมจากนักศึกษานานาชาติยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

สมาคมนักการศึกษานานาชาติ (NAFSA: Association of International Educators) ประเมินว่าค่าเล่าเรียน ค่าจับจ่ายใช้สอย และค่ากินอยู่ของนักศึกษาต่างชาติในอเมริกา มีมูลค่าถึง 41,000 ล้านดอลล่าร์ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

พงศ์ธร หรือ บุ๊ค วัย 23 ปี บัณฑิตจากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาเล่าว่า เขาประทับใจกับความรวดเร็ว และการเข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจของ San Francisco Conservatory of Music ที่ ณ เวลานี้ แจ้งว่าจะมีการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติ

"ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนขึ้นมาปุ๊บ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการของแต่ละภาคจะมา take action (จัดการ) แล้วคุยกับเราโดยตรง เรื่องที่ด่วน ๆ พวกผู้อำนวยการจะเข้ามาคุยแล้วทุกอย่างมันจะเร็วมาก...ผมก็เคยคุยกับตัวไดเร็คเตอร์ ของ Office of Admissions (สำนักงานคัดเลือกและสรรหานักศึกษา) มีคำถามโน่นนี่นั่น เขาสามารถจัดการตรงนั้นได้เลย เช้าวันถัดมาเขาส่งอีเมล์มาเป็นลิสท์เลยว่าอันนี้จัดการให้แล้ว ผมก็ถามเขาว่ามีทุนเพิ่มให้มั้ยในสถานการณ์แบบนี้ อยู่ดี ๆ เช้าวันถัดมาเขาก็ให้เพิ่มได้เลย"

Sirirut Sonjai, an economics graduate from Thailand, is coming to Harvard Kennedy School this fall.
Sirirut Sonjai, an economics graduate from Thailand, is coming to Harvard Kennedy School this fall.

ส่วนศิริรัตน์ เล่าว่าการสื่อสารจาก Harvard Kennedy School ยังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับคณะอื่นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ผ่านมาคณบดีมีจดหมายถึงนักศึกษาเพียงครั้งเดียว จึงทำให้เธอและนักศึกษาต้องเป็นฝ่ายรุก โดยมีการปรึกษาหารือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ

"จะสื่อสารผ่าน Slack และ Whatsapp เพื่อน ๆ แอคทีฟมาก เพิ่งมีการนัด Town Hall กันไปสองรอบ คือให้นักเรียนมาคุยกันเลยว่าความต้องการของแต่ละคนเป็นยังไง ทั้งในแง่ของนักเรียนอเมริกันเอง และต่างชาติเอง เพื่อที่เราจะได้ทำข้อเสนอ เสนอให้กับคณะเลยว่าเราจะทำยังไง มองว่าเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า ระหว่างนักศึกษากับตัวคณะเองเพื่อหาหนทางที่ดีที่สุด เพราะในบางทีที่เขาตัดสินใจ เขาอาจจะไม่ได้เห็นมุมมองบางอย่างของนักศึกษาอย่างแท้จริง ทุกคนแอคทีฟมาก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลาเลยว่าเราจะทำยังไง"

อดีตบัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสริมว่า เธอและนักศึกษาคนอื่น ๆ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก เพื่อให้คณะพิจารณาข้อเสนอของตน

"จดหมายเปิดผนึกสองสามหน้าเลย ว่าเรามีความกังวลเรื่องอะไร รวมถึงค่าเทอมด้วยค่ะ ทุกคนคือคาดหวังว่าถ้าประสบการณ์หลาย ๆ อย่างหายไป ไม่ได้ไปเรียนที่คณะ จะขอลดราคาได้มั้ย กำลังหารือกันอยู่ ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากคณะ...บางคนก็ไม่รู้ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านก่อนไหม บางคนได้รับผลทางเศรษฐกิจ กังวลกันหลายอย่าง เลยรู้สึกว่าต้องคุยกันละ ต้องทำให้คณะได้รับรู้"

สู่รั้วมหาวิทยาลัย ก้าวใหม่ที่ต้องกล้า

การต้องจัดการกับความไม่ชัดเจนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ ศิริรัตน์ และ พงษ์ธร ผู้อยู่ในวัยยี่สิบต้น ๆ ได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา

Pongtorn Techaboonakho posed with friends at Princess Galyani Vadhana Institute of Music in Bangkok.
Pongtorn Techaboonakho posed with friends at Princess Galyani Vadhana Institute of Music in Bangkok.

พงษ์ธร บอกว่าประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เขากล้าพูด กล้าถาม จนทำให้ได้ส่วนลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม

"ที่ขอทุนเพิ่ม ก็คงใช้คำว่า ‘ด้านได้ อายอด’ ต้องกล้าพิมพ์ไป มีอะไรก็ต้องคุยกับเขาตรง ๆ เมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยกล้า ก็ต้องกล้าถามเลย เพราะว่าการได้คุยกันเขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่ต้องจัดการจริง ๆ คืออะไร การพิมพ์ก็ส่วนหนึ่ง ทำให้ภาษาอังกฤษดีขึ้น การเรียบเรียงภาษาให้เขาอ่านรู้เรื่อง มันก็อัพขึ้น แต่พอได้คุยกันเราก็ต้องพูดให้เขารู้เรื่องและกระชับ ได้ทักษะทางด้านภาษาและทักษะความกล้าเพิ่มขึ้น"

ส่วนศิริรัตน์ มองว่าความไม่แน่นอน ข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด และความบีบรัดเรื่องเวลา ทำให้เกิดความเครียดบ้าง แต่เธอเลือกที่จะใช้ข้อมูลและทรัพยากรที่มีอยู่ ตัดสินใจให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

"เป็นสถานการณ์ที่ยากพอสมควร เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครเคยเจอ ไม่มีใครที่เราแบบรู้แน่นอนว่า ถ้าเกิดปัญหานี้แล้วถามคนนี้จะรู้ ทุกคนเผชิญสถานการณ์เดียวกันหมด อย่างเดียวที่ทำได้คือหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจให้เราได้มากที่สุดในสถานการณ์ที่มันไม่แน่นอน...แต่ที่สำคัญ ระหว่างทาง เราต้องวางแผนแล้วว่า ถ้าเราเลือกทางนี้ scenario (เหตุการณ์) ที่เกิดขึ้น 1, 2, 3 เราจะทำยังไงต่อไป ให้เรามีประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด อย่างเช่น ถ้าเรียนออนไลน์ 100% เราก็ต้องมาจัดการแล้วว่า ถ้า time zone เราต้องเรียนตอนกลางคืน เราจะต้องทำยังไง ถ้าเกิดเขาเปิดเทอมเดือนมกราคม ก็ต้องหาบ้านสำรองให้เร็วที่สุด ก็คือเตรียมให้เราพร้อมมากที่สุดในทุก ๆ ทางที่เราเลือกแล้วค่ะ"

ปัจจุบัน ว่าที่นักศึกษาใหม่ทั้งสองคน ได้เริ่มลงมือเตรียมการหลายอย่างที่ทำได้ ทั้งเอกสารเพื่อการขอวีซ่า และอ่านหนังสือประกอบการเรียน ที่สำคัญ พวกเขาบอกว่า จิตใจก็ต้องเตรียมให้พร้อม หากการเรียนต่อระดับปริญญาโทในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเทอมแรก จะแตกต่าง ไม่เหมือนที่เคยวาดหวังเอาไว้

รายงานโดย วรางคณา ชมชื่น Voice of America กรุงวอชิงตัน

XS
SM
MD
LG