ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทั่วโลกฮือฮา “แอล” กับ “กุ้งเต้น” 2 สาวไทยเข้าพิธีวิวาห์กันเอง พร้อมจับตากฏหมายยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกันอาจผ่านสภาไทยในเร็วๆนี้


การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันของ 2 สาวไทยที่เข้าพิธีสมรสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการรายงานข่าวและได้รับความสนใจจากทั่วโลก และคาดว่าไทยอาจมีแนวโน้มเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะอนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันผ่านร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่กำลังเตรียมพิจารณาจากรัฐสภาไทย
การแต่งงานของเพศเดียวกันในไทย : ข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุึป
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:24 0:00

พิธีรดน้ำสังข์ในงานแต่งงานแบบไทย ของนางสาวอริสา ถนอมเมฆ และนางสาวพัชรี หังษาบุตร สองสาวชาวไทย ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศรายงานข่าวไปทั่วโลกเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างเจ้าสาวแสนสวยทั้ง 2 คนที่เป็นเพศเดียวกัน

เช่นเดียวกับกระแสตอบรับทางสื่อออนไลน์ ซึ่งทั้ง อริสาและพัชรี เป็นที่รู้จักจากชื่อเล่นว่า “แอล” กับ “กุ้งเต้น” ก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากบนสื่ออินเทอร์เนท

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฏหมายรองรับการแต่งงานเพศเดียวกัน แต่เจ้าสาวทั้ง 2 ก็ตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์โดยได้รับความยินยอมจากญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมเป็นสักขีพยาน

​อริสา และ พัชรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า พวกเธอไม่จำเป็นต้องรอกฏหมายที่ยอมรับการแต่งงานของพวกเธอ เพราะสิ่งสำคัญคือพวกเธอพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน เช่นเดียวกับครอบครัวของทั้งสองก็พร้อมสนับสนุน

การผลักดันในเรื่องสิทธิการแต่งงานของเพศเดียวกันเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีนี้ หลังจากมีกลุ่มรักเพศเดียวกันพยายามเร่งผลักดันให้สิทธิในเรื่องนี้ได้รับการยอมรับและมีผลบังคับใช้ผ่านร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมยกร่างสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นที โรจนะธีรพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนและผลักดันเพื่อให้กฏหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

นที บอกว่า ไทยจะเป็นผู้นำอเมริกาในเรื่องนี้ หลังจากที่อเมริกาใช้เวลาถกเถียงกันมาระยะหนึ่งแล้วในเรื่องผลักดันสิทธิการแต่งงานของเพศเดียวกัน โดยเชื่อมั่นว่าไทยจะยอมรับในเรื่องนี้ในเวลาไม่กี่ปีต่อจากนี้
อย่างไรก็ตามการรณรงค์ในแนวคิดนี้ก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่าง เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยเมื่อปีที่ผ่านมา มีมากกว่าร้อยละ 58 ยังคงเชื่อว่าการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน
ด้าน วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเคร่งศาสนาในนิกายโรมันคาธอลิค และศาสนาอิสลาม ที่ยังคงเข้มงวดกับเรื่องนี้

ปัจจุบันมี 13 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีเพียงบางรัฐเท่านั้นที่กฏหมายให้การยอมรับในเรื่องนี้ และหากรัฐสภาไทยผ่านร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต ไทยก็จะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างถูกต้องโดยกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 20 ปีบริบูรณ์ของบุคคลที่มีสัญชาติไทย
XS
SM
MD
LG