ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ‘ประชาธิปไตย’ ในสหรัฐฯ สะท้อนเสียงคนส่วนใหญ่จริงหรือ?


ภาพการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งขั้นต้นสหรัฐฯ ในวัน 'ซูเปอร์ทิวส์เดย์' จากเมืองเบรเคนริดจ์ รัฐโคโลราโด 5 มี.ค. 2024
ภาพการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งขั้นต้นสหรัฐฯ ในวัน 'ซูเปอร์ทิวส์เดย์' จากเมืองเบรเคนริดจ์ รัฐโคโลราโด 5 มี.ค. 2024

ในวันอังคารที่สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งขั้นต้นในหลายรัฐพร้อมกัน หรือที่เรียกว่า Super Tuesday ซึ่งผู้ติดตามการเมืองอเมริกัน จะเห็นภาพที่ช่วยยืนยันว่าใครน่าจะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ในการแข่งเป็นประธานาธิบดีปลายปีนี้

เนื่องจากการเลือกตั้งขั้นต้นในสหรัฐฯ มีรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง สำนักข่าวเอพีออกรายงานเชิงวิเคราะห์ เกี่ยวกับ ‘ประชาธิปไตย’ ในสหรัฐฯ ว่าสะท้อนเสียงคนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่?

บทความชิ้นนี้สอบถามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นักวิชาการและผู้ที่ทำงานด้านการเลือกตั้ง เกี่ยวกับลักษณะของกระบวนการลงคะเเนนเสียงของประชาชนในสหรัฐฯ ว่ามีข้อดี-ข้อด้อยอย่างไร

กฎเกณฑ์ของการเลือกตั้งขั้นต้นของเดโมเเครตและรีพับลิกัน ในการคัดตัวเเทนพรรคเพื่อมาลงเเข่งกันเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน มีความเเตกต่างกันในเเต่ละรัฐ

เป็นที่คาดหมายอย่างกว้างขวางว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้ จะเป็น 'นัดล้างตา' อีกครั้งระหว่างโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำคนก่อนหน้า

โพลล์หลายสำนักชี้ว่า ชาวอเมริกันรู้สึกขาดความตื่นเต้นอย่างรุนแรงที่จะเห็นทั้งคู่กลับมาเเข่งกันอีก ตามรายงานของเอพี

คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะลงทะเบียนเป็น 'ผู้ใช้สิทธิ์อิสระ' ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกตัวเเทนของพรรคใด

ใน 22 รัฐจากทั้งหมด 50 ทั่วประเทศ ประชาชนที่เป็น 'ผู้ใช้สิทธิ์อิสระ' หรือ กลุ่ม independent voters จะไม่มีโอกาสเลือกผู้สมัครในขั้นตอนการเลือกตั้งขั้นต้น

ในบรรดา 22 รัฐดังกล่าวรวมถึงเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ และเป็นสนามเลือกตั้งที่เดโมเเครตและรีพับลิกันมักมีคะเเนนนิยมคู่คี่กัน

การที่กลุ่ม independent voters ไม่ถูกรวมอยู่ในการเลือกตั้งขั้นต้น จึงทำให้กระบวนการใช้สิทธิ์ของประชาชนถูกตั้งคำถาม ว่าสะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่หรือไม่

เเดเนียล เพียตเควิคซ์ รองเจ้าหน้าที่สูงสุดฝ่ายปฏิบัติการขององค์กรคลังสมอง Alliance of Democracies Foundation ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เดนมาร์ก กล่าวว่าคนอาจจะมองการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ด้วยทัศนคติใหม่ ๆ หากว่ามีความคล้ายหลายประเทศในยุโรป

กล่าวคือประเทศเหล่านั้นให้นักการเมืองจากต่างพรรคเเข่งกันลงเลือกตั้ง และค่อยคัดตัวอีกรอบ สำหรับผู้ที่มีคะเเนนสูงสุดอันดับต้น ๆ

เธอกล่าวว่า "คุณมักสามารถพบว่ามีพรรคการเมืองที่ตรงกับความต้องการของคุณ"

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อพอล่า สตีเวนส์ วัย 73 ปี จากรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า เธอรู้สึกหงุดหงิดที่ น่าจะทราบผลไปแล้วว่าใครเป็นตัวเเทนที่จะไปชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ส่วนหนึ่งเพราะรัฐของเธอจัดการเลือกตั้งหลัง Super Tuesday สองสัปดาห์

สตีเวนส์บอกด้วยว่าน่าจะไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกประธานาธิบดีในปีนี้ เพราะเธอไม่ต้องการเลือกทั้งทรัมป์และไบเดน

ภาพการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งขั้นต้นสหรัฐฯ ในวัน 'ซูเปอร์ทิวส์เดย์' จากเมืองเเม็คแอลเลน รัฐเท็กซัส 5 มี.ค. 2024
ภาพการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งขั้นต้นสหรัฐฯ ในวัน 'ซูเปอร์ทิวส์เดย์' จากเมืองเเม็คแอลเลน รัฐเท็กซัส 5 มี.ค. 2024

ด้าน นิค ทรอริอาโน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Unite America กล่าวว่า การเลือกตั้งขั้นต้นเป็นการเเข่งขันที่ผู้สมัครได้เเข่งกันจริง ๆ เพราะในการเลือกตั้งที่เป็นการชิงกันของสองพรรคใหญ่ ผลของคะเเนนเสียงในหลายเขตแทบจะถูกกำหนดไว้เเล้วโดยเทคนิคที่เรียกว่า 'gerrymandering'

เทคนิคดังกล่าวก็คือการที่รัฐ ออกแบบการแบ่งเขตในเเต่ละเขตให้ประกอบด้วยประชากรที่เป็นฐานเสียงพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน

ทรอริอาโนกล่าวว่า คนจำนวนไม่มากในเขตเลือกตั้งเหล่านั้นออกมาใช้สิทธิ์ หากเทียบกับเขตอื่น ๆ เขาเสริมว่า "เราจึงอยู่กับกฎของคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่คนหมู่มาก"

ไมเคิล มิลเลอร์ นักรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแทบไม่กี่เเห่งในโลก ที่คนในรัฐบาลมีอำนาจควบคุมกระบวนการและออกกฎเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง

"พื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศ มีการเลือกว่า (การเเบ่งเขตแบบไหน) ดีที่สุดต่อพรรคที่คุมอำนาจอยู่" มิลเลอร์กล่าว

รูปแบบอีกประการหนึ่งของประชาธิปไตยสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงคือรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ยืนยันสิทธิ์การเลือกตั้งของประชาชนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

เนธาน สต็อค ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ Conflict Resolution ที่ศูนย์ Carter Center กล่าวว่าช่องโหว่นี้เปิดทางให้เกิดกระบวนการ ที่อาจกีดกันคนบางกลุ่มเรื่องการใช้สิทธิ์ได้

ในการจัดทำดัชนีประชาธิปไตยที่ประกอบด้วย 167 ประเทศและดินเเดนต่างๆ โดย The Economist Intelligence Unit รายงานในปี 2023 ชี้ว่า สหรัฐฯ มีประชาธิปไตยที่มีจุดอ่อน

รายงานของ The Economist Intelligence Unit ระบุด้วยว่าหากไบเดน เเข่งเป็นประธานาธิบดีกับทรัมป์อีกครั้งหนึ่ง "ประเทศที่เคยเป็นแสงส่องทางด้านระชาธิปไตย อาจจะถลำลึกลงสู่ความแตกแยกและการลดลดทอนสิทธิ์พื้นฐาน"

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเเข็งของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ตามทัศนะของมิลเลอร์ นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน คือสหรัฐฯ มีการจัดการเลือกตั้งที่ "ยอดเยี่ยม"

เขากล่าวว่า "เเม้ว่าเกิดความไม่เชื่อใจในระบบมากขึ้นเพราะการแบ่งขั้นรุนเเรงทางการเมือง แต่ยังไม่พบว่าเกิดการโกงการเลือกตั้งจริง ๆ ขึ้น"

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG