ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รู้จัก ‘Chicken Project’ โครงการวิจัยไก่ของ ม.Georgia Tech มุ่งเน้นศึกษาภาษาไก่


วิศวกรของมหาวิทยาลัย Georgia Institute of Technology อยากจะรู้ภาษาไก่ เพราะไก่ที่ไม่สบาย หรือไม่มีความสุข จะไม่กินข้าวและไม่อ้วนท้วน

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:04 0:00
Direct link

รัฐ Georgia ในภาคใต้ของอเมริกา เป็นแหล่งผลิตไก่เป็นอาหารใหญ่ที่สุดของประเทศ เฉพาะในปี ค.ศ. 2013 ไก่ในรัฐนี้เป็นอาหารขึ้นโต๊ะมากกว่า 1,300 ล้านตัว จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ Georgia Institute of Technology จะมีโครงการวิจัยไก่ หรือ ‘chicken project’

โครงการที่ว่านี้ต้องการจะเรียนรู้อะไรจากไก่ และวิธีการนั้นทำกันอย่างไร?

วิศวกรของสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย Georgia Institute of Technology อยากจะรู้ภาษาไก่ เพราะไก่ที่ไม่สบาย หรือไม่มีความสุข จะไม่กินข้าวและไม่อ้วนท้วน ฟาร์มไก่อยากจะเลี้ยงแต่ไก่ที่อ้วนท้วนน่ารับประทานเท่านั้น

วิศวกรของสถาบันวิจัยใน Georgia แห่งนี้ จึงร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ อัดเสียงไก่ในช่วงเวลาต่างๆที่คิดว่า ไก่กำลังมีความสุข ไม่สบาย หนาว หรือไม่พอใจเพราะถูกจับให้ไปอยู่ร่วมกันอย่างแออัด เป็นเวลามากกว่า 1,000 ชั่วโมง

อุปกรณ์ที่ใช้คือไมโครโฟนกับ app สำหรับการอัดเสียงใน smartphone นักศึกษาที่ Georgia Tech เป็นผู้เขียน app นี้ และตั้งชื่อว่า SCAR ซึ่งเป็นตัวย่อของ ‘Sick Chicken Audio Recorder’ ต่อจากนั้น นักวิจัยป้อนเสียงที่อัดมาเข้าคอมพิวเตอร์ แปรเสียงไก่ต่างอารมณ์เป็นตัวเลขเรียงลำดับ รอการวิจัยในลักษณะเดียวกับที่ app ของ smartphone ตอบคำถามของผู้ใช้

วิธีการของโครงการวิจัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์เสียงเพื่อพยายามทำความเข้าใจหรือสื่อสารติดต่อกับสัตว์นานาชนิด ตั้งแต่ปลาวาฬ ปลาโลมา ไปจนถึง วัว และหมู เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่า ยังต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของชาวไร่ชาวนาที่เลี้ยงไก่มาแต่เก่าก่อน ว่าเสียงต่างๆ ที่อัดมานั้น มีความหมายว่าอะไรบ้าง

โครงการวิจัยไก่ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าอีกสองปัญหาที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงด้วย เรื่องแรกคือทำอย่างไรจึงจะหาวิธีอัดเสียงไก่สักห้าหมื่นตัว ซึ่งเป็นจำนวนมาตรฐานสำหรับโรงเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ โดยไม่ต้องใช้คน แนวคิดในขณะนี้คือการปรับปรุงเครื่องดูดฝุ่นหุ่นยนต์ Roomba ให้ถ่ายวิดีโอได้ ต้อนฝูงไก่ได้และแถมยังเก็บไข่ที่ตกหล่นได้ด้วย

ปัญหาที่สองคือ ไก่กระทง หรือไก่หนุ่ม ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Broilers’ ซึ่งมีอายุราวๆ หกสัปดาห์ก็ขึ้นโต๊ะได้แล้วนั้น นักวิจัยไม่แน่ใจว่า ไก่เหล่านี้มีอายุโตพอจะได้เรียนรู้ภาษาของตนเองหรือยัง

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Jeanna Wilson ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกของมหาวิทยาลัย Georgia ซึ่งเลี้ยงไก่ Leghorn ไว้ในบ้านฝูงหนึ่ง บอกว่าอยู่กับไก่ฝูงนี้มาหลายปีแล้ว เวลาเข้าฝูงกัน ก็ได้ยินการปราศรัยทักทาย แต่บอกไม่ได้ว่าเรื่องที่ไก่ในฝูงคุยกันนั้นเป็นเรื่องอะไรบ้าง

XS
SM
MD
LG