ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตะวันออกกลางอาจเรียนรู้จากบทเรียนการปฏิวัติโดยพลังประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ตะวันออกกลางอาจเรียนรู้จากบทเรียนการปฏิวัติโดยพลังประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตะวันออกกลางอาจเรียนรู้จากบทเรียนการปฏิวัติโดยพลังประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประท้วงล้มล้างระบอบเผด็จการในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเมื่อหลายสิบปีก่อนคือบทเรียนสำหรับการปฏิรูปประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง

การประท้วงเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจทั่วโลก แต่หากย้อนกลับไปราว 10-20 ปีที่แล้ว หลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เคยประสบความวุ่นวายทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ระบอบที่ปกครองประเทศแถบนี้มาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต้องล่มสลายลง

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ชาวฟิลิปปินส์หลายหมื่นคนเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงมะนิลาโดยการนำของอดีตประธานาธิบดี Corazon Aquino ในการประท้วงที่เรียกว่าการปฏิวัติด้วยพลังประชาชน จนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบการปกครองแบบเผด็จการของนาย Ferdinand Marcos และเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ประเทศไทยและอินโดนีเซียในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม การประท้วงในครั้งนั้นได้ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ประจักษ์ถึงความจริงข้อหนึ่งว่า การล้มระบอบผู้นำเผด็จการกับการมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น อาจมิได้มาพร้อมๆกัน เพราะหลายปีหลังจากนาย Marcos ถูกขับไล่ การเมืองฟิลิปปินส์ยังวุ่นวายสับสน มีความพยายามปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

คุณ Steven Rood ผู้แทนของฟิลิปปินส์ในมูลนิธิ Asia Foundation ชี้ว่าในเวลานั้น ทั้งผู้นำประชาชนและผู้นำทหารต่างต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจภายใต้ระบอบเผด็จการ และแม้ทหารคือผู้มีบทบาทสำคัญในการขับไล่นาย Marcos แต่ก็มิได้หมายความว่าทหารจะพึงพอใจกับระบอบใหม่แต่อย่างใด เช่นเดียวกับสถานการณ์ในอียิปต์เวลานี้ที่คณะทหารคือผู้ควบคุมปกครองอียิปต์จนกว่าจะมีการเลือกตั้งในอีก 6 เดือน

คุณ Rood มองว่าสิ่งสำคัญคือการกำหนดบทบาทใหม่ให้แก่ทหารทันทีหลังจากเกิดการล้มล้างรัฐบาลเช่นในอียิปต์หรือฟิลิปปินส์ และว่าฟิลิปปินส์ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะสร้างสมดุลเกี่ยวกับบทบาทของทหารในทางการเมืองได้

สำหรับในกรณีของอินโดนีเซีย ภายหลังการล่มสลายของระบอบการปกครองประธานาธิบดี Suharto เมื่อ 13 ปีก่อน นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่าอินโดนีเซียอาจกำลังเข้าสู่สงครามแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจะเป็นเหตุผลให้คณะทหารขึ้นปกครองอำนาจ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทหารอินโดนีเซียสามารถปรับบทบาทให้เข้ากับระบอบการเมืองที่เปลี่ยนไปได้

คุณ Leonard Sebastian นักวิเคราะห์แห่ง Rajaratnam School of International Studies ชี้ว่าเหตุผลมีอยู่ด้วยกันหลายข้อ หนึ่งคือเวลานั้นการเมืองอินโดนีเซียแตกกระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยทำให้รวมฐานอำนาจได้ยาก สองคือแรงกดดันจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อไม่ให้ทหารขึ้นมามีอำนาจ และสามคือกลุ่มนายทหารนักปฏิรูปที่กำลังมีอำนาจในกองทัพได้พยายามแยกกองทัพออกจากการเมืองเป็นผลสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในนายทหารหลุ่มนั้นมีประธานาธิบดีคนปัจจุบัน พลเอก Susilo Bambang Yudhoyono รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรมุสลิมขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยเช่นกัน คุณ Sebastian ชี้ว่าเครือข่ายองค์กรมุสลิมใหญ่ที่สุด 2 แห่งต่างอดทนและเสียสละเพื่อให้ประชาธิปไตยสามารถหยั่งรากลึกในอินโดนีเซียได้ในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งอาจโยงไปถึงบทบาทของกลุ่ม Muslim Brotherhood ในอียิปต์ภายหลังการล่มสลายของระบอบประธานาธิบดี Hosni Mubarak ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมองว่า แม้ปัจจุบันอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ต่างมีเสถียรภาพทางประชาธิปไตยและเศรษฐกิจพอสมควร แต่ทั้ง 2 ประเทศยังคงประสบปัญหาคอรัปชั่นและความยากจน อีกทั้งลูกหลานเครือญาติของระบอบเผด็จการก็ยังคงกุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจบางส่วนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

XS
SM
MD
LG