ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การใช้ชีวิตในสังคมกลุ่มใหญ่เป็นปัจจัยที่ช่วยให้สัตว์เฉลียวฉลาด


นักวิจัยอเมริกันศึกษาสติปัญญาของตัวลีเมอร์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแห่งเกาะมาดากัสก้าร์แล้วพบว่าขนาดของสมองไม่เกี่ยวข้องกับระดับปัญญาและความเฉลียวฉลาด

มนุษย์มีความฉลาดเป็นเลิศ คนเราค้นพบคัลคูลัส ทฤษฏีเเรงโน้มถ่วงและไฟ หากเปรียบเทียบกับสมองของสัตว์ทุกชนิดในธรรมชาติ สมองของมนุษย์มีความพิเศษอย่างชัดเจน

คุณเอวาน เเม็คลีน นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัย Duke กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเรารู้ดีว่าคนเราฉลาด แต่มีคำถามสำคัญเกิดขึ้นว่าหากมองในแง่วิวัฒนาการแล้ว อะไรทำไมคนเราฉลาด

คุณเเม็คลีนเชื่อว่าการที่มนุษญ์เป็นสัตว์สังคม ที่อาศัยอยู่ในสังคมหมู่ใหญ่ มีการสื่อสารต่อกันและกัน อาจมีผลให้มนุษย์มีขนาดของสมองที่ใหญ่และฉลาดกว่าสมองของสัตว์อื่นๆและ

คุณเเม็คลีน นักวิจัยกล่าวว่าเมื่อเราอาศัยในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง มีคนหลากหลายประเภท คนเราต้องจดจำข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับคนรอบข้าง อาทิ ใครเป็นเพื่อนกับใคร ใครเป็นศัตรูกับใคร เขากล่าวว่าการแยกย่อยข้อมูลเหล่านี้เป็นงานหนักสำหรับสมอง

คุณเเม็คลีนและเพื่อนร่วมงานได้ทดสอบทฤษฎีนี้ในตัวลีเมอร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ถือว่ามีวิวัฒนาการคล้ายคลึงกับวิวัฒนาการของมนุษย์ แต่ลีเมอร์แตกต่างกันไปหลายสายพันธุ์ ลีเมอร์บางชนิดอาศัยอยู่ในกลุ่มที่ใหญ่กว่าและเป็นสัตว์สังคมมากกว่าลีเมอร์บางสายพันธุ์ นอกจากนี้ลีเมอร์บางพันธุ์ยังมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าด้วย

ในการทดลองในห้องแลป ทีมนักวิจัยได้ทดสอบตัวเมอร์หกสายพันธุ์ถึงความสามารถของมันในการขโมยอาหารจากคน ก่อนตัวลีเมอร์จะขโมยอาหาร มันจะดูเสียก่อนว่าคนกำลังจ้องมองอยู่หรือไม่ ตัวลีเมอร์ต้องใช้ความเฉลียวฉลาดเพื่อเอาตัวรอด

คุณเเม็คลีนกล่าวว่าทีมงานพบว่าลีเมอร์สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่มีสมองใหญ่กว่าและมีความสามารถสูงกว่าในการตัดสินใจว่าควรจะขโมยอาหารชิ้นใด

ในทางกลับกัน คุณเเม็คลีนกล่าวว่าเมื่อทีมนักวิจัยทดสอบตัวลีเมอร์ในด้านความสามารถเสาะหาอาหาร ปรากฏว่าตัวลีเมอร์สายพันธุ์ที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่ใช่สัตว์สังคม ก็สามารถเสาะหาอาหารได้ดีเท่าๆกับตัวลีเมอร์สายพันธุ์ที่มีสมองขนาดใหญ่กว่า นักวิจัยเห็นว่าขนาดของสมองของตัวลีเมอร์ไม่มีผลต่อความสามารถในการเสาะหาอาหารตามธรรมชาติแต่อย่างใด

คุณเเม็คลีนกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าดูเหมือนว่าตัวลีเมอร์ที่สมองใหญ่กว่ากลับทำได้ไม่ดีเท่ากับลีเมอร์ที่สมองเล็กกว่าในการเสาะหาอาหาร เขาบอกว่าข้อมูลที่พบเกินความคาดคิด

เขากล่าวว่านี่เเสดงให้เห็นว่าความฉลาดในด้านต่างๆ อาทิ ความสามารถในการตัดสินใจ เสาะหาอาหาร ความสามารถในการสื่อสาร และเข้าสังคม พัฒนาได้แยกกัน คุณเเม็คลีนชี้ว่าในขณะที่คนเราฉลาดมาก สัตว์ชนิดอื่นๆก็ฉลาดเช่นกันแต่ในหลายๆทางที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับว่าต้องเก่งในด้านใดเพื่อความอยู่รอด

ผลการศึกษานี้ยังชี้ด้วยว่ามีหลักฐานที่ยืนยันความเชื่อที่ว่าความฉลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของสมองที่ใหญ่กว่าเสมอไป นักวิจัยเชื่อว่าขนาดของสมองอาจจะไม่ใช่ตัวชี้ความฉลาดของสัตว์ พวกเขากล่าวว่าความฉลาดเป็นเรื่องซับซ้อนและจำเป็นต้องเสาะหาแนวการวัดความฉลาดแนวใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม





XS
SM
MD
LG