ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นวัตกรรมล้ำสมัยในนิทรรศการหุ่นยนต์ที่สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน


นวัตกรรมล้ำสมัยในนิทรรศการหุ่นยนต์ที่สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน
นวัตกรรมล้ำสมัยในนิทรรศการหุ่นยนต์ที่สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน สถาบันสมิธโซเนี่ยน ในกรุงวอชิงตัน นอกจากจะจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อเมริกาในเกือบทุกแขนงแล้ว ในปัจจุบันยังมีการจัดแสดงนิทรรศการที่แสดงถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของหุ่นยนต์นานาชนิดนับตั้งแต่หุ่นยนต์พูดได้ไปจนถึงหุ่นยนต์จักรกลในโลกไซเบอร์ที่ใช้ทำงานแทนมนุษย์

หุ่นยนต์ C-3PO หรือเจ้าหุ่นแอนดรอยด์สีทอง รูปร่างเก้งก้าง แต่พูดได้คล้ายมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน สถาบันสมิธโซเนี่ยน ที่กรุงวอชิงตัน เรียกความสนใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมนิทรรศการหุ่นยนต์อย่างไม่ขาดสาย

Carlene Stephens ภัณฑรักษ์นิทรรศการจัดแสดงหุ่นยนต์ บอกว่าแม้ว่าจะเป็นเพียงหุ่นยนต์ในภาพยนตร์ แต่เจ้าหุ่น C-3PO ก็ถือเป็นตัวแทนเรื่องราวการพัฒนาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีอยู่มากมาย

ภัณฑรักษ์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน บอกว่า ประวัติศาสตร์ของหุ่นยนต์มีพัฒนาการมายาวนาน และเป็นหน้าที่โดยตรงของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่จะนำเสนอความน่าสนใจเชื่อมโยงกับวงการอุตสาหกรรม การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆมาจัดแสดง

ปัจจุบันทั่วโลกมีหุ่นยนต์หรือจักรกลที่อยู่ในสายการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ในกองทัพมากกว่า 6 ล้านตัว ในจำนวนนี้รวมไปถึงหุ่นยนต์กู้ระเบิดควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล หรือ PackBot ที่ยังคงใช้งานอยู่ในกองทัพสหรัฐ ก็นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย

ขณะที่หุ่นยนต์ที่กำลังท้าทายวงการรถยนต์ในอนาคตก็คือเทคโนโลยีการควบคุมการขับรถแบบอัตโนมัติ ที่ติดตั้งในรถโฟล์คสเวเก้นที่ชื่อว่า สแตนลีย์ (Stanley) ซึ่งภัณฑรักษ์ในนิทรรศการหุ่นยนต์คนนี้ บอกว่า เจ้า สแตนลีย์ เคยประสบความสำเร็จคว้าเงินรางวัลกว่า 2 ล้านเหรียญในการแข่งขันรถหุ่นยนต์ หรือ Robotic car ข้ามทะเลทรายในแถบรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรโดยไม่ใช้คนขับมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

คุณสตีเฟ่นส์ บอกว่า เทคโนโลยีการขับรถแบบอัตโนมัติที่มีใน Stanley ถือเป็นกุญแจสำคัญในประวัติศาสตร์ด้านเทคโนโลยีของอเมริกา ที่กำลังจะมีแนวโน้มนำไปสู่โลกของการขับรถในอนาคต

เช่นเดียวกับอุปกรณ์อัจฉริยะที่เรียกว่า HDL-64 ที่ บรูซ ฮอลล์ ผู้จัดการใหญ่บริษัทอิเล็คทรอนิคส์แห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย นำมาจัดแสดง และบอกว่าอุปกรณ์ชนิดนี้จะเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการขับรถได้

เขาบอกว่า อุปกรณ์ที่เรียกว่า HDL-64 นี้สามารถยิงลำแสงเลเซอร์ 64 ตัวออกไปทุกทิศทางในเวลาพร้อมกันได้ 2 ล้าน 5 แสนจุดต่อวินาที ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเพื่อการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเพื่อการนำทาง และขณะนี้กำลังสามารถพัฒนาอุปกรณ์ให้มีราคาและขนาดที่เล็กลงเท่าถ้วยกาแฟเพื่อสามารถติดตั้งได้ในรถทุกคันทุกประเภทในโลก นอกจากนี้คุณบรูซยังเชื่อว่าในชั่วชีวิตนี้เราจะมีโอกาสได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไปถึงขั้นที่เรียกว่าเพียงก้าวขึ้นรถ บอกจุดหมายปลายทาง เจ้ารถคู่ใจก็สามารถพาคุณเดินทางไปที่ไหนต่อไหนได้ตามต้องการด้วยระบบอัตโนมัติ

ด้าน Berry Spletzer อดีตนักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากศูนย์หุ่นยนต์ของศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติซานเดีย ของสหรัฐ (Sandia National Laboratory’s robotics center) ที่นำหุ่นยนต์จิ๋วและหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติขนาดเล็กที่เขาสร้างขึ้นไปบริจาคเพื่อร่วมจัดแสดงนิทรรศการหุ่นยนต์ บอกว่า ความท้าทายสำคัญของเขาคือโครงการสร้างหุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้

เขาบอกว่า หุ่นยนต์ที่เขานำมาจัดแสดงถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่เล็กที่สุดของโลก หุ่นยนต์ที่กระโดดได้สูงที่สุดในโลก หรือฝูงหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไปเป็นกลุ่มร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้าในโลกหุ่นยนต์ตลอด 10-15 ปีที่ผ่านมาและสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนมีผลต่อวงการอุตสาหกรรม การค้นคว้าทางอวกาศ การแพทย์ และการพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัย

นิทรรศการจัดแสดงหุ่นยนต์ในพิพิธภัณธ์ สถาบันสมิธโซเนี่ยนในครั้งนี้ นอกจากจะเปิดรับบริจาคหุ่นยนต์เพื่อนำมาจัดแสดงแล้ว ยังคาดหวังที่จะให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อชีวิตประจำวันของเราในทุกวันนี้ด้วย

XS
SM
MD
LG