ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การฟื้นตัวเฉื่อยช้า วิกฤติการณ์หนี้สินในยุโรป ภาวะว่างงานสูงในสหรัฐ เป็นข่าวเศรษฐกิจนำในปีพ.ศ. 2553


การฟื้นตัวเฉื่อยช้า วิกฤติการณ์หนี้สินในยุโรป ภาวะว่างงานสูงในสหรัฐ เป็นข่าวเศรษฐกิจนำในปีพ.ศ. 2553
การฟื้นตัวเฉื่อยช้า วิกฤติการณ์หนี้สินในยุโรป ภาวะว่างงานสูงในสหรัฐ เป็นข่าวเศรษฐกิจนำในปีพ.ศ. 2553

แม้ว่าคลื่นความรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจหดตัวทั่วโลกจะบรรเทาเบาบางลง แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ยังเห็นว่า โลกยังคงรู้สึกถึงความปั่นป่วนที่หลงเหลืออยู่ อย่างภาวะว่างงานสูงในสหรัฐ วิกฤติการณ์ด้านหนี้สินในหลายประเทศในยุโรป และการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นข่าวเศรษฐกิจข่าวนำในปี 2553 และเป็นสิ่งเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นจะไม่ราบรื่นและไม่ใช่เรื่องง่าย

เศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ในปี 2553 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป โลกผ่านวิกฤติการณ์ทางการเงินร้ายแรงที่สุดในชั่วอายุคน แต่หลังจากตกอยู่ในภาวะหดตัวนานกว่า 2 ปี เศรษฐกิจยังคงเปราะบางและฟื้นตัวอย่างไม่สม่ำเสมอไม่เท่าเทียมกัน

Hans Timmer นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารโลกกล่าวว่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือ การที่เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะในเอเชีย มีการขยายตัวอย่างเข้มแข็งคึกคักมาก และในละตินอเมริกาก็ขยายตัวรวดเร็วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ อย่าง จีน อินเดีย และบราซิล เน้นถึงความไม่สมดุลที่มีมากขึ้น และเมื่อถึงช่วงกลางปี ภาวะว่างงานในสหรัฐก็ยังสูงอย่างไม่ลดละ ตลอดจนวิกฤติการณ์ด้านหนี้สินล้นพ้นในเขต 16 ชาติที่ใช้เงินยูโร กลายเป็นสิ่งเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะไม่ราบรื่นและไม่ใช่เรื่องง่าย

Uri Dadush ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของสถาบัน Carnegie แสดงทัศนะว่า เรื่องใหญ่ที่สุดในปี 2553 ก็คือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัว ซึ่งความจริงแล้วเป็นไปค่อนข้างเร็ว แต่เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง คือการเกิดวิกฤติการณ์หนี้สินในยุโรป ซึ่งยังคงกรุ่นอยู่และทำท่าจะเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2554

ขณะที่มีการชุมนุมประท้วงและเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายต่อหลายครั้งในกรีซในการต่อต้านมาตรการประหยัดของรัฐบาลที่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้าสำหรับการรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศ บรรดานักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินยูโร เงินดอลล่าร์ก็ไม่ได้มีสภาพดีไปกว่ากันมากนัก

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในกลุ่ม G-20 ครั้งสำคัญเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ระบบธนาคารกลางสหรัฐประกาศแผนการใหม่ที่จะซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลเป็นมูลค่า 600,000 ล้านดอลล่าร์ โดยมุ่งที่จะลดอัตราดอกเบี้ยและหนุนเศรษฐกิจของประเทศ แต่บรรดาผู้นำประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G-20 เห็นว่า เป็นการอัดฉีดเงินดอลล่าร์เข้าตลาดโลกเพื่อหำให้สินค้าออกของสหรัฐถูกลง และนโยบายนี้ทำให้เกิดความรู้สึกในการปกป้องผลประโยชน์เฉพาะตนขึ้นมา

Domenico Lombardi นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบัน Brookings กล่าวว่า การประกาศแผนการดังกล่าวของสหรัฐมีขึ้นในช่วงเวลาไม่เหมาะ จึงทำให้มีผลเสียต่อโอกาสที่จะมีการประชุมที่มีความร่วมมือกัน และยังผลเสียต่อข้อโต้แย้งของสหรัฐในเรื่องที่ว่า จีนจัดแจงเงินตราของตน บรรดาผู้นำประเทศในกลุ่ม G-20 ซึ่งรวมทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจกำลังเบ่งบาน ตกลงกันได้ในหลักการเพียงการมีพันธกรณีในการต่อต้านการจัดแจงเงินตรา และความหวั่นเกรงที่ว่าวิกฤติการณ์ด้านหนี้สินในยุโรปจะขยายตัว ทำให้กลุ่ม G-20 ไม่สามารถหาพื้นฐานร่วมกันมากกว่านั้นได้

หลังจากกรีซ ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่สองในเขตใช้เงินยูโรที่ต้องรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการกอบกู้ฐานะ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่า ประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มีหนี้สินล้นพ้นก็มีท่าทางว่าจะล่มเช่นกัน อย่าง ปอร์ตุเกสและสเปน

อย่างไรก็ตาม แม้สเปนกำลังเป็นปัญหาท้าทายปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับสหภาพยุโรป แต่ด้วยเหตุที่สเปนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของยุโรป หลายฝ่ายเห็นว่า สเปนเป็นเศรษฐกิจใหญ่เกินกว่าที่จะล่มได้

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงติดต่อถึงกัน ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันมากขึ้นว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วในตลาดหรือเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตจะไม่ยั่งยืน หากไม่มีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอและมีความสมดุลในบรรดาประเทศตะวันตก

ขณะที่ปีเก่ากำลังผ่านไปและปีใหม่กำลังย่างเข้ามา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้จะช้าไปบ้าง แต่ก็ช่วยลดโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับหดตัวทรุดลงอีก

แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ที่มองการณ์ในแง่ดีก็ยังบอกว่า การพยากรณ์ที่สมเหตุสมผลที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2554 นั้น จะคงเหมือนเดิม คือ ค่อนข้างช้ามาก แต่ก็จะขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

XS
SM
MD
LG