ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นาฬิกาวงจรแสงจันทร์ (Circaluna Clock) กับอาการนอนไม่หลับในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง


การนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอนั้นมีมากมายหลายสาเหตุ แต่รายงานชิ้นใหม่ของนักวิจัยที่ University of Basel ในสวิสเซอร์แลนด์ พบว่าบางทีการที่เรานอนไม่หลับนั้นอาจมีสาเหตุมาจากดวงจันทร์ก็เป็นได้

คุณ Chris Cajochen นักวิจัยเรื่องการนอนหลับที่ ร.พ มหาวิทยาลัย Basel ในสวิสเซอร์แลนด์ พยายามศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนหลับของกลุ่มตัวอย่าง 33 คนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ และพบว่ามีปัจจัยหนึ่งที่ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่ออาการนอนไม่หลับ นั่นคือคืนไหนที่พระจันทร์เต็มดวง ประสิทธิภาพการนอนหลับของกลุ่มตัวอย่างจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคืออัตราการนอนหลับแบบหลับลึกจะลดลงราว 30% นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังตื่นเร็วกว่าเดิม 20 นาที และหลับช้ากว่าเดิม 5 นาที

นักวิจัย Chris Cajochen บอกว่า จนถึงเวลานี้เรายังมีความรู้ไม่มากเกี่ยวกับผลกระทบของดวงจันทร์ที่มีต่อมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งคุณ Cajochen เรียกสิ่งนี้ว่า ‘Circaluna Clock’ หรือนาฬิกาในร่างกายที่เชื่อมโยงกับอิทธิพลของดวงจันทร์ โดยพบว่าในคืนพระจันทร์เต็มดวงนั้น ระดับสารฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เข้าสู่ภาวะหลับใหลนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด นักวิจัยเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นผลมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทราบว่ามนุษย์มี Circadian Clock หรือนาฬิกาธรรมชาติในร่างกายที่คอยควบคุมระบบชีวภาพในร่างกายมนุษย์ในช่วง 1 วันหรือ 24 ชม. รวมทั้งควบคุมเวลาการนอนของเราในแต่ละวัน โดยนักวิจัยเชื่อว่าความสว่างและความมืดนั้นมีผลต่อ Circadian Clock ด้วย

คุณ Chris Cajochen ระบุว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าในร่างกายสัตว์บางชนิด Circadian Clock กับ Circaluna Clock จะทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมระบบต่างๆ แต่ยังไม่พบอิทธิพลดังกล่าวต่อมนุษย์อย่างชัดเจน ดังนั้นเรื่องของอิทธิพลจากดวงจันทร์ที่มีต่อร่างกายมนุษย์จึงยังเป็นปริศนาที่ต้องศึกษากันต่อไป

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยผู้นี้บอกว่าหาก Circaluna Clock หรือนาฬิกาวงจรแสงจันทร์มีอยู่จริง ก็จะช่วยอธิบายถึงเรื่องระบบการทำงานของร่างกาย อาการนอนไม่หลับ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกของคนเราในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงได้เช่นกัน

รายงานจาก Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล




XS
SM
MD
LG