ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์ใช้แบ็คทีเรียที่ทำให้อาหารเป็นพิษในการบำบัดมะเร็ง


นักวิทยาศาสตร์ใช้แบ็คทีเรียที่ทำให้อาหารเป็นพิษในการบำบัดมะเร็ง
นักวิทยาศาสตร์ใช้แบ็คทีเรียที่ทำให้อาหารเป็นพิษในการบำบัดมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองใช้เชื้อแบคทีเรีย ซาลโมเนลลา ที่ทำให้อาหารเป็นพิษ ในการบำบัดรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ซึ่งเป็นชนิดที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต การทดลองกับหนูได้ผลน่าพอใจอย่างยิ่งทั้งในด้านการป้องกันและการบำบัด และนักวิทยาศาสตร์กำลังพิจารณาที่จะทำการทดลองในมนุษย์ และคาดว่า อาจได้รับอนุมัติให้เริ่มได้กลางปีหน้า

นักวิทยาศาสตร์ กำลังทำการทดลองกับหนูในการใช้เชื้อแบคทีเรีย ซาลโมเนลลา ที่ทำให้อาหารเป็นพิษ ในการบำบัดรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ซึ่งเป็นชนิดที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และได้ผลน่าพอใจอย่างยิ่ง และนักวิทยาศาสตร์กำลังพิจารณาที่จะทำการทดลองในมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันโรคมะเร็งยุโรปที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ทดลองฉีดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) เข้าไปที่ก้อนเนื้องอกของหนูทดลองที่ถูกทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังชนิด เมลาโนมา (melanoma) ซึ่งเป็นเนื้อร้ายอันตรายถึงแก่ชีวิต

มาเรีย เรชีนโย (Maria Reschingno) ผู้อำนวยการแผนกภูมิต้านทานบำบัดของสถาบันโรคมะเร็งยุโรปอธิบายว่า เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาจะไปกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิต้านทานหรือภูมิคุ้มกันโดยไปทำให้เกิดช่องทางขึ้นภายในก้อนเนื้อร้าย และเซลป้องกันของระบบภูมิต้านทานที่เรียกว่า dentritic จะตรวจจับเศษส่วนของสารโปรตีนจากก้อนเนื้องอกที่เรียกว่า peptides ที่หลุดผ่านช่องทางดังกล่าว แล้วระบบภูมิต้านทานก็จะทำงานต่อต้านปราบปรามมะเร็งเนื้อร้ายนั้น

นักวิจัยทำการทดลองสองชุด ชุดหนึ่ง เป็นการทดลองด้านการป้องกัน นักวิจัยฉีดเซลที่มีเชื้อซาลโมเนลลาเข้าไปในหนูทดลองที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเมลาโนมา แล้วพยายามทำให้หนูนั้นเป็นมะเร็งดังกล่าว การตอบสนองของระบบภูมิต้านทานจะป้องกันหนูไม่ให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังขึ้นมา เมื่อหนูไม่เป็นมะเร็งก็เท่ากับเป็นการป้องกันได้ 100 % ในการทดลองอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการทดลองด้านการบำบัดรักษา นักวิจัยฉีดเซลป้องกันของระบบภูมิต้านทาน dentritic ที่ทำให้มีเชื้อซาลโมเนลลา เข้าไปในหนูที่เป็นเนื้องอก นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่าเนื้องอกที่เป็นอยู่นั้นสลายตัวหมดไปในหนูทดลองครึ่งหนึ่ง

เมลาโนมา เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกับคนผิวสีอ่อน การที่ผิวหนังถูกแสงแดดมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ หากเป็นในระยะเริ่มแรก ก็จะสามารถบำบัดรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไป แต่ทันทีที่มะเร็งเนื้อร้ายนั้นลุกลามแผ่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว ก็ไม่มีทางบำบัดรักษาให้หายได้

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการแผนกภูมิต้านทานบำบัดของสถาบันโรคมะเร็งยุโรปกล่าวว่า การทดลองกับหนูบ่งชี้ว่า นักวิทยาศาสตร์อาจสามารถพัฒนาวิธีการบำบัดรักษาที่ได้ผลสำหรับมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่ลุกลามออกไปโดยการใช้เซลมะเร็งที่บำบัดด้วยเชื้อแบ็คทีเรียซาลโมเนลลาได้

มาเรีย เรชีนโย หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า การศึกษาการฉีดเชื้อซาลโมเนลลาเข้าไปในตัวอย่างเซลเนื้องอกเมลาโนมาของมนุษย์ ได้ผลในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งน่าพอใจอย่างยิ่ง นักวิจัยหวังกันว่า จะได้รับอนุญาตตามระเบียบกฏเกณฑ์ให้เริ่มการทดลองกับมนุษย์ได้ภายในกลางปีหน้า

รายงานเรื่องการใช้เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาในการฆ่ามะเร็งเนื้อร้ายนี้ ลงพิมพ์ในวารสาร Scinece Translational Medicine ฉบับสัปดาห์นี้

XS
SM
MD
LG