ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วงการแพทย์เกิดความหวัง... เมื่อนักวิทยาศาสตร์ปลูกเนื้อเยื่อคนด้วยสารเคลือบเซลล์จากสัตว์สำเร็จ


Scientists Build Human Tissue on Animal Matrix
please wait

No media source currently available

0:00 0:02:47 0:00

Scientists Build Human Tissue on Animal Matrix

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเนื้อเยื่อจากสัตว์จะดีกว่าเนื้อเยื่อจากผู้บริจาคเสียอีก เพราะไม่สามารถส่งผ่านโรคที่เกิดในคนได้

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:30 0:00
Direct link

นายนิโคลัส คลาค กระโดดได้อีกครั้งแม้ว่าจะเสียกล้ามเนื้อที่ขาข้างซ้ายไปเป็นบริเวณกว้าง หลังจากได้รับบาดเจ็บรุนแรงในอุบัติเหตุ

เขากล่าวว่านอกจากจะเสียกล้ามเนื้อขาแล้ว เขายังเสียเส้นประสาท เส้นเลือดในขาและเนื้อเยื่อขาไปด้วย ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เขาได้สร้างกล้ามเนื้อที่ขาขึ้นมาใหม่ หลังจากเข้ารับการบำบัดแนวใหม่ ที่คิดค้นขึ้นโดยมหาวิทยาลัยการแพทย์ University of Pittsburgh Medical Center ที่ใช้เนื้อเยื่อที่ได้จากหมู นำไปขูดเอาเซลล์ของสัตว์ออกจนหมด จนเหลือเฉพาะส่วนที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า สารเคลือบเซลล์ หรือ extracellular matrix

Dr. Stephen Badylak แห่ง University of Pittsburgh Medical Center กล่าวว่า สารเคลือบเซลล์เป็นส่วนด้านนอกของเซลล์ ช่วยค้ำจุนโครงสร้างของเซลล์ที่ทำหน้าที่ควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายของคนเรา ไม่ว่าจะควบคุมการเติบโตของเนื้อเยื่อ และควบคุมกระบวนการต่างๆ ในร่างกายหลังเกิดอาการบาดเจ็บ

เมื่อร่างกายเราเสียเนื้อเยื่อเนื่องจากอุบัติเหตุหรือจากการเจ็บป่วย ตัวสารเคลือบเซลล์ก็จะเสียไปด้วย ทำให้เนื้อเยื่อใหม่ขาดโครงร่างที่เป็นตัวเเบบให้เนื้อเยื่อเจริญขึ้นใหม่ทดแทน สารเคลือบเซลล์จากหมูจึงช่วยทำหน้าที่นี้

และเเม้ว่าจะมาจากสัตว์ ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาเเต่อย่างใด

Dr. Stephen Badylak กล่าวว่า ส่วนประกอบหรือตัวโมเลกุลที่ประกอบขึ้นเป็นสารเคลือบเซลล์ มีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นใหม่เป็นอย่างมาก และมีการคงรักษาเอาไว้อย่างดีผ่านการวิวัฒนาการ ดังนั้นโมเลกุลในคนเราจึงมีความคล้ายคลึงกับโมเลกุลในหมู ในหนู หรืออาจจะรวมไปถึงไดโนเสาร์ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เนื้อเยื่อจากสัตว์จะดีกว่าเนื้อเยื่อจากผู้บริจาคเสียอีก เพราะไม่สามารถส่งผ่านโรคที่เกิดในคนได้ และยังมีให้ใช้ได้ตลอดเวลาตามต้องการ

การบำบัดเพื่อปลูกเนื้อเยื่อแบบใหม่นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในการบำบัดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหลอดอาหารออก เนื่องจากเป็นมะเร็งหรือได้รับอาการบาดเจ็บ

Dr. Stephen Badylak กล่าวว่า ทีมงานสามารถขูดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งทั้งหมดออกจากหลอดอาหาร และใช้สารเคลือบเซลล์ที่ได้จากหมูติดทาบลงบนโครงของหลอดอาหารแทน เพื่อกระตุ้นให้สร้างเนื้อเยื่อผนังหลอดอาหารใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่เเข็งเเรงดีและยังไม่พบว่ามะเร็งหวนคืน

หากเทียบกับการบำบัดด้วยเซลล์ตั้งต้นหรือสเต็มเซลล์ การบำบัดเพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ที่ใช้สารเคลือบเซลล์จากหมูนี้ มีราคาถูกกว่าอย่างมาก สารเคลือบเซลล์ที่ได้จากหมูมีหลายขนาดและรูปทรง แห้ง และสั่งซื้อได้จากห้องแล็ปเฉพาะทาง

ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผลการทดลองที่ได้ สร้างความหวังเป็นอย่างมาก และเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอาจจะสามารถนำแนวทางการบำบัดเเบบนี้ไปใช้ในการกระตุ้นการสร้างอวัยวะใหม่ทั้งอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นตับหรือไตได้สำเร็จ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG