ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ทรัมป์' ทวีตวิจารณ์การแต่งตั้งอัยการพิเศษ “เป็นการล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน”


From left, former FBI Director Robert Mueller, named special prosecutor to the investigation of Russia's involvement in the 2016 U.S. presidential election, and President Donald Trump.
From left, former FBI Director Robert Mueller, named special prosecutor to the investigation of Russia's involvement in the 2016 U.S. presidential election, and President Donald Trump.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:13 0:00


ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความวิจารณ์การแต่งตั้งอัยการพิเศษเพื่อทำหน้าที่สอบสวนกรณีเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 2016 ว่าเป็น

“เหตุการณ์การล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน”

ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการแต่งตั้งอัยการพิเศษ จะช่วยให้การสอบสวนกรณีนี้ดำเนินไปอย่างเป็นอิสระยิ่งขึ้น

เมื่อวันพุธ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประกาศแต่งตั้ง นายโรเบิร์ต มูลเลอร์ (Robert Mueller) อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ให้เข้ารับหน้าที่เป็นอัยการพิเศษในการสอบสวนกรณีเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 2016

Then FBI Director Robert Mueller testifies on Capitol Hill in Washington, June 19, 2013, before the Senate Judiciary Committee.
Then FBI Director Robert Mueller testifies on Capitol Hill in Washington, June 19, 2013, before the Senate Judiciary Committee.

และในวันนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความตำหนิการแต่งตั้งนายโรเบิร์ต มูลเลอร์ ว่าเป็น “เหตุการณ์การล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน” และวิจารณ์ว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการแต่งตั้งอัยการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายของนางฮิลลารี่ คลินตั้น คู่แข่งของทรัมป์ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งตรวจสอบรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโอบาม่า แต่อย่างใด

การแต่งตั้งอัยการพิเศษขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ มีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ สั่งปลดนายเจมส์ โคมีย์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการ FBI ผู้มีบทบาทสำคัญในการสอบสวนกรณีการเกี่ยวพันของฝ่ายหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์กับรัสเซีย และเกิดขึ้นในขณะเดียวกับที่คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กำลังสอบสวนในกรณีนี้เช่นกัน

ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ พยายามปฏิเสธข้อกล่าวหาใดๆ ก็ตามที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงการกล่าวหาว่า พรรคเดโมแครตและนางคลินตั้น อยู่เบื้องหลังข้อกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง เพราะต้องการรักษาหน้าเอาไว้จากการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

แต่ผลการสอบสวนของหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ ชี้ว่ารัสเซียมีส่วนในการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ จริง ด้วยการลอบเจาะล้วงข้อมูลของหัวหน้าคณะหาเสียงของนางคลินตั้น แล้วนำมาเปิดเผยทางเว็บไซต์ WikiLeaks

นายโรเบิร์ต มูลเลอร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ FBI มายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 - 2013 ก่อนหน้านายเจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการ FBI ที่ถูกนายโดนัลด์ ทรัมป์ ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อวานนี้นายมูลเลอร์ มีแถลงการณ์สั้นๆ ในการประกาศรับหน้าที่ใหม่ว่า "ขอรับความรับผิดชอบในเรื่องนี้ และจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ"

ก่อนหน้านี้ สมาชิกรัฐสภาบางส่วนจากพรรคริพับลิกันได้เริ่มตีตัวออกห่างจากประธานาธิบดีทรัมป์ และเริ่มเรียกร้องให้มีการสอบสวนการปลดนายเจมส์ โคมี่ย์ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมองว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจมีความพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่มีบันทึกของอดีตผู้อำนวยการ FBI ผู้นี้ ที่ระบุว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขอให้เขายุติการสอบสวนกรณี พลโท ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของทำเนียบขาว ที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย

แต่ดูเหมือนปฏิกิริยาล่าสุดของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ต่างเป็นไปในทางบวกหลังการประกาศชื่อนายมูลเลอร์ให้รับผิดชอบการสอบสวนกรณีการแทรกแซงของรัสเซีย

ทางด้านคุณ Evan Siegfried นักวิเคราะห์การเมืองจากพรรครีพับลิกัน กล่าวกับวีโอเอว่า “การแต่งตั้งอัยการพิเศษครั้งนี้ ทำให้เกิดความหวังว่าจะมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง เนื่องจากนายมูลเลอร์จะมีเงินทุนของตัวเอง มีอำนาจในการคัดเลือกคณะทำงาน และสามารถดำเนินการสอบสวนได้เต็มที่ตามหลักฐานที่รวบรวมมาได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม หรือ FBI”

นอกจากนี้อัยการพิเศษผู้นี้ยังมีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกตั้งข้อหาในกรณีนี้ด้วย

(ผู้สื่อข่าว Ken Bredemeier และ Steve Herman รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG