ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คน 40 ล้านคนทั่วโลกได้รับอันตรายจากการดูแลรักษาพยาบาลที่ด้อยคุณภาพทั่วโลก


ทีมนักวิจัยทำการประมวลข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจำนวนสี่พันชิ้นเกี่ยวกับการดูแลทางการแพทย์ที่ด้อยมาตรฐานในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก

คุณ Ashish Jha ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสุขภาพแห่งภาควิชาการสาธารณสุข มหาวิทยาลัย Harvard University ในเมือง Boston เป็นหัวหน้าการวิจัยนี้ เขากล่าวว่าการดูแลรักษาพยาบาลที่ไม่ได้คุณภาพเป็นปํญหาใหญ่เพราะทำให้ชีวิตของผู้ป่วยตกอยู่ในอันตรายหากมีความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ขณะที่คนไข้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

คุณ Jha และสมาชิกในทีมวิจัยจากองค์การอนามัยโลกในเจนนีวาและจากสถาบัน RIT International ใน Duram ในรัฐ North Carolina ค้นพบว่าเกิดกรณีการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยขึ้นในโรงพยาบาลในประเทศกำลังพัฒนาถึงเกือบ 26 ล้านกรณีและที่เหลืออีก 16 ล้าน 8 แสนกรณี เกิดขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆ ในชาติตะวันตก

ทีมนักวิจัยชี้ว่าอาการเส้นเลือดขอดเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยที่เกิดแก่คนไข้ขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานานแต่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ ปัญหาสุขภาพอีกอย่างหนึ่งที่เกิดกับคนไข้ในโรงพยาบาลคืออาการอักเสบในท่อปัสสาวะ อาการอักเสบในกระเเสเลือด การลื่นล้มและอาการระบมจากการนอนบนเตียงนานเกินไป

ส่วนในโรงพยาบาลในประเทศตะวันตก ปัญหาหลักเกิดจากความผิดพลาดในการจ่ายยาแก่คนไข้

คุณ Jha กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการอบรมบุคลากรในโรงพยาบาลที่ด้อยคุณภาพแต่เขาคิดว่าสาเหตุหลักมาจากประเด็นของการให้การบริการการรักษาพยาบาลที่ปลอดภัยมากกว่า

เขากล่าวว่าการรักษาพยาบาลกลายเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบันและมีอันตรายเกี่ยวข้องมากขึ้นกว่าเดิม ยารักษาโรคในปัจจุบันมีผลข้างเคียงสูงกว่าเดิม มีคนไข้อาการหนักที่ติดเชื้อหลากหลายประเภทรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้อย่างเพียงพอ

คุณ Jha หัวหน้าการวิจัยคุณภาพการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกล่าวปิดท้ายรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอว่าครอบครัวของผู้ป่วยทำอะไรไม่ได้มากนักในเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะนี่เป็นความรับผิดชอบหลักของทางโรงพยาบาลเอง

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยได้เรียกร้องให้ผู้ออกนโยบายให้ความสนในต่อปัญหานี้และมุ่งปรับปรุงทั้งคุณภาพและความสะอาดของการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
XS
SM
MD
LG