ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยเผยอากาศสกปรกทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้


A woman and a child wearing masks walk hands in hands as a cyclist covers his nose for protection against the pollution on a pedestrian overhead bridge on a polluted day in Beijing, Sunday, Dec. 20, 2015.
A woman and a child wearing masks walk hands in hands as a cyclist covers his nose for protection against the pollution on a pedestrian overhead bridge on a polluted day in Beijing, Sunday, Dec. 20, 2015.

งานวิจัยชิ้นนี้แสดงหลักฐานว่าการสูดดมอากาศที่มีมลพิษเป็นระยะเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:01 0:00
Direct link

รายงานการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Federation of American Societies for Experimental Biology ระบุว่าการหายใจเอาอากาศสกปรกเข้าไปนั้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อปอดแล้ว ยังอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ด้วย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Duke ได้ทำการศึกษาผลเสียของมลพิษทางอากาศที่มีต่อน้ำหนักตัว และพบว่าหนูทดลองที่ดมควันพิษเป็นประจำ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในงานวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีนครั้งนี้ นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างมลพิษจากอากาศในกรุงปักกิ่ง โดยทดสอบด้วยการแยกหนูทดลองเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้อาศัยอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีควันพิษแบบเดียวกับที่ปกคลุมกรุงปักกิ่ง ส่วนอีกกลุ่มให้อาศัยอยู่ในห้องที่มีแผ่นกรองอากาศ

หลังจากผ่านไป 19 วัน นักวิจัยพบว่าหนูกลุ่มที่อาศัยอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีควันพิษนั้น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีเนื้อเยื่อบางส่วนที่เกิดอาการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่าหนูกลุ่มนี้มีระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีคือ LDL Cholesterol ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นถึง 50% และระดับสารไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นโทษต่อร่างกาย เพิ่มขึ้นราว 46%

หนูทดลองกลุ่มที่เปิดรับอากาศสกปรกยังมีระดับสารต้านอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สองด้วย

ผลการวิจัยครั้งนี้ยังพบด้วยว่า หนูทดลองตัวเมียที่อาศัยอยู่ภายใต้อากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษนั้น มีน้ำหนักตัวมากกว่าหนูทดลองตัวเมียที่อาศัยอยู่ในห้องที่มีกรองอากาศ ราว 10% ส่วนหนูทดลองตัวผู้ที่สูดดมควันพิษมีน้ำหนักตัวมากกว่าตัวผู้ในอีกห้องหนึ่งราว 18%

อาจารย์ Junfeng Zhang แห่งมหาวิทยาลัย Duke ผู้ร่วมจัดทำรายงานการวิจัยชิ้นนี้ ชี้ว่า ที่ผ่านมาเราทราบกันว่าอาการเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ประกอบการที่โรคเบาหวานและโรคอ้วนนั้นล้วนเป็นโรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

งานวิจัยชิ้นนี้จึงสามารถแสดงหลักฐานได้ชัดเจนว่า การเปิดรับอากาศที่มีมลพิษเป็นระยะเวลานานนั้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้จริง

อาจารย์ Zhang ระบุด้วยว่า เมื่อนำผลการวิจัยที่ได้นี้มาปรับใช้กับมนุษย์ ก็สามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งอาจเป็นหนทางหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีสำหรับประชากรในเมืองใหญ่ ทั้งในส่วนของระบบการเผาผลาญพลังงาน และระบบทางเดินหายใจ

XS
SM
MD
LG