ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โปรตีนในรกในช่วงตั้งครรภ์หากอยู่ในระดับต่ำจะมีผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของทารก


ทีมนักวิจัยอเมริกันพบว่าระดับโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในรกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคทางระบบประสาทประเภทออติสซึ่มและโรคจิตหลอนถ้าหากโปรตีนตัวนี้อยู่ในระดับต่ำและความเครียดของมารดาในขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้โปรตีนในรกตัวนี้อยู่ในระดับต่ำ

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ออฟเพนซิลเวเนีย รัฐฟิลลาเดลเฟีย เปิดเผยว่าผู้หญิงที่เครียดในขณะกำลังตั้งครรภ์จะส่งผ่านโปรตีนพิเศษชนิดหนึ่งไปสู่ทารกในครรภ์ในระดับต่ำกว่าปกติ ซึ่งมีผลให้เกิดความผิดปกติทางพัฒนาทางสมองในทารก ระดับโปรตีนชนิดนี้ในระดับต่ำที่สุดพบในสายรกของทารกเพศชาย

คุณเทรซี่ เบล ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาเป็นหัวหน้าการวิจัยนี้ กล่าวว่ารกทำหน้าที่ส่งผ่านเลือด ออกซิเจน และอาหารไปเลี้ยงทารกในครรภ์ และยังทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกรองที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งครรภ์

คุณเบลกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่ารกมียีนที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป
ยีนเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะเเวดล้อมในรกที่ตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวมารดา อาหารที่มารดารับประทาน รวมถึงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของมารดาและกิจกรรมอื่นๆ

โรคจิตหลอนเป็นอาการทางระบบประสาทที่ผู้ป่วยสร้างมโนภาพขึ้นมาเอง ส่วนผู้ป่วยโรคออติสซึ่มมีความผิดปกติในด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม

ทีมนักวิจัยรู้ดีว่าอาการผิดปกติทั้งสองชนิดนี้เกิดขึ้นในเด็กผู้ชายมากกว่าและรุนแรงกว่าในเด็กผู้หญิง คุณเบลและทีมงานวางแผนค้นหาต้นเหตุทางชีววิทยาของโรคด้วยการศึกษาตัวโปรตีนที่อาจให้คำตอบได้ว่าทำไมจึงมีผลกระทบแตกต่างออกไประหว่างทารกเพศหญิงกับเพศชาย

ทีมนักวิจัยให้เหตุผลว่ายีนตัวที่มีบทบาทในการเกิดโรคด้อยพัฒนาทางสมองอาจจะเกี่ยวข้องกับโครโมโซมเอ็กซ์ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศหญิง

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่าในการทดลองหลายครั้งกับหนูทดลอง ทีมนักวิจัยใช้กลิ่นของสัตว์ล่าหนูกับเสียงที่ไม่คุ้นเคยเพื่อสร้างความเครียดให้แก่หนูทดลองที่เพิ่งตั้งท้องในช่วงสัปดาห์แรกซึ่งเทียบเท่ากับผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนแรก หลังจากนั้นทีมนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ยีนในรกของหนูทดลองที่เกิดความเครียดอย่างละเอียด เทียบกับยีนในรกของหนูทดลองตั้งท้องที่อยู่ในสภาวะไม่เครียด

ทีมนักวิจัยค้นพบว่าเกิดระดับโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโปรตีน OGT ในรกของลูกหนูตัวเมียสูงกว่าในรกของลูกหนูตัวผู้ นอกจากนี้ ระดับโปรตีนตัวนี้ยังมีระดับต่ำในรกของหนูตั้งท้องที่อยู่ในภาวะเครียดเมื่อเทียบกับหนูตั้งท้องที่ปลอดจากความเครียด

คุณเบล หัวหน้าทีมวิจัยไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าโปรตีนโอจีทีมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองในมนุษย์ แต่ชี้ว่าการตรวจหาระดับของโปรตีนโอจีทีในรกทารกในครรภ์อาจจะช่วยให้ระบุได้ว่าทารกคนไหนมีความเสี่ยงสูงต่อโรคออติสซึ่มและโรคจิตหลอนที่เป็นผลสืบเนื่องจากความเครียดของมารดาขณะตั้งครรภ์

คุณเบลหัวหน้าทีมวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าโปรตีนตัวนี้จะช่วยให้แพทย์รู้ว่าทารกคนไหนที่ต้องติดตามดูพัฒนาการเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กมีความเสี่ยงสูงต่อความบกพร่องเหล่านี้และหาทางแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ และในกรณีของโรคออติสซึ่ม นักวิจัยเเนะนำว่าการแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆจะเป็นประโยชน์ในการช่วยปรับปรุงความสามารถในการสื่อสารของเด็ก
XS
SM
MD
LG