ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานวิจัยระบุว่าบุคลิกลักษณะคนเราเปลี่ยนไปตามอายุ คำถามก็คือส่วนที่ไม่เปลี่ยนตามธรรมชาตินั้น เจ้าตัวเปลี่ยนเองได้หรือไม่


Happy
Happy
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:52 0:00
Direct link

งานวิจัยหลายชิ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ลงความเห็นร่วมกันว่า บุคลิกภาพของคนเราเปลี่ยนไปเองได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมักจะเป็นไปในเชิงบวก และที่เกิดขึ้นก็เพราะสภาพแวดล้อมของชีวิตเปลี่ยนไป เช่นมีแฟนเป็นตัวตน หรือมีความก้าวหน้าในการงาน

ในขณะเดียวกัน บุคลิกลักษณะที่ไม่เปลี่ยนไปเอง แต่เจ้าตัวอยากจะเปลี่ยนนั้น จะมีหนทางทำได้หรือไม่

นักจิตวิทยาจัดประเภทของบุคลิกภาพคนเราไว้กว้างๆ 5 ประเภทด้วยกัน คือ ตรงไปตรงมา จริงจังรับผิดชอบ น่าคบหาสมาคม เจ้าอารมณ์ และเปิดเผยสังคมเก่ง

นักจิตวิทยา Christopher Soto แห่ง Colby Personality Lab ที่ Colby College ในรัฐ Maine บอกว่า บุคลิกภาพแต่ละประเภทมีลักษณะพิเศษควบคู่กันไปด้วย เช่นคนที่มีบุคลิกภาพเปิดเผยสังคมเก่งจะชอบการพบปะสังสรรค์ผู้คนเพื่อนฝูงกลุ่มใหญ่ ส่วนคนเจ้าอารมณ์จะแสดงลักษณะขุ่นเคือง กระวนกระวาย และความเปราะบางอ่อนแอ คนที่จริงจังรับผิดชอบ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะไปไกลกว่าคนอื่นๆ ในการงานและการเล่าเรียน ส่วนคนที่มีลักษณะน่าคบหามักจะมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงเป็นที่พึงพอใจ

นักจิตวิทยา Christopher Soto ของ Colby College เคยทำงานวิจัยเรื่องความสุขในหมู่ชาวออสเตรเลียมากกว่า 16,000 คนมาแล้ว งานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ไว้ใน Journal of Personality พบว่า คนที่มีความสุข มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีอารมณ์มั่นคง เอาใจใส่ในความรับผิดชอบ และน่าคบหาสมาคมมากขึ้น

นักจิตวิทยาผู้นี้บอกไว้ด้วยว่า 50% ของบุคลิกภาพของเรานั้นมีมาแต่กำเนิด อีก 50% มาจากการเรียนรู้ ซึ่งเปิดโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้

คนที่ต้องการความช่วยเหลือ อาจารย์ Christopher บอกว่าให้ไปหานักจิตบำบัด แต่คนที่อยากแก้ไขด้วยตนเอง นักจิตวิทยา Richard Levak ที่เมือง Del Mar ในรัฐ California ระบุขั้นตอนที่จะนำไปสู่ความสุขไว้ให้ดังนี้

ขั้นแรก เราต้องสำรวจดูว่า บุคลิกลักษณะของเราส่วนไหนที่สร้างปัญหา มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ขี้สงสัย หรือชอบต่อล้อต่อเถียง ซึ่งวิธีแก้ คือพยายามทำใจให้สงบ ทำความเข้าใจความคิดของตนเอง และระมัดระวังปากคำให้มากขึ้น

ขั้นต่อไป คืออย่าตั้งความหวังสูง ให้เริ่มจากจุดเล็กๆ และต้องมีความอดทน เพราะการแก้พฤติกรรมเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย ต้องอาศัยความอดทนและอดกลั้น ที่สำคัญคือต้องบอกให้คนรอบข้างรู้ว่ากำลังพยายามทำอะไร เขาจะได้ไม่แปลกใจหรือมีปฏิกิริยาที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความพยายาม

นักจิตวิทยา Christopher Soto บอกว่า ถ้าเรารักษาความประพฤติใหม่นี้ได้สักระยะหนึ่งก็จะกลายมาเป็นกิจวัตร และนั่นก็คือประตูชัยที่นำไปสู่การเป็นผู้มีความสุขในชีวิต
XS
SM
MD
LG