ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความพยายามของประเทศแถบภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อรวบรวมข้อตกลงการค้าเสรีที่กระจัดกระจาย


ความพยายามของประเทศแถบภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อรวบรวมข้อตกลงการค้าเสรีที่กระจัดกระจาย
ความพยายามของประเทศแถบภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อรวบรวมข้อตกลงการค้าเสรีที่กระจัดกระจาย

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีได้ขยายไปทั่วเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล้มเหลวในการเจรจาขององค์การการค้าโลก นักเศรษฐศาสตร์บางคนวิจารณ์ว่าข้อตกลงการค้าทวิภาคีเหล่านั้นคือการบั่นทอนความพยายามจัดทำเขตการค้าเสรี และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบางคนระบุถึงมาตรการผลักดันให้มีการควบรวมข้อตกลงการค้ากับเขตการค้าเสรีเข้าด้วยกัน

เป้าหมายในการลดกำแพงภาษีของประเทศต่างๆลงให้ได้ภายในปี คศ.2020 นั้น เริ่มร่างขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้วในการประชุมที่อินโดนีเซีย แต่กลับถูกบดบังความสำคัญไปเนื่องจากการขยายตัวของข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี ซึ่งข้อตกลงที่ว่านี้ช่วยให้สินค้าและบริการไหลถ่ายเทระหว่างสองประเทศได้อย่างรวดเร็วกว่าการพยายามจัดทำเขตการค้าเสรีแบบรวมสมาชิกหลายประเทศไว้ด้วยกัน เกาหลีใต้ จีนและสิงคโปร์คือตัวอย่างของประเทศสมาชิกกลุ่ม APEC ที่ได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศอื่นหลายฉบับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Shujiro Urata แห่งมหาวิทยาลัย Waseda ในญี่ปุ่นชี้ว่าความล้มเหลวของการเจรจาการค้าโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือสาเหตุทำคัญที่ทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีมากขึ้น ศาสตราจารย์ Urata เชื่อว่าในอนาคตจะมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีและแบบรวมหลายประเทศหรือพหุภาคีมากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งของแนวคิดข้อตกลงพหุภาคีนี้คือ ข้อตกลงความร่วมมือทั่วภาคพื้นแปซิฟิกหรือ Trans-Pacific Partnership ที่สหรัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกภาษีนำเข้าอย่างไม่มีเงื่อนไข ศาสตราจารย์ Shujiro Urata ชี้ว่าขณะนี้ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป รวมทั้งแถบอเมริกาใต้ ต่างกำลังต้องการเป็นพันธมิตรกับประเทศแถบเอเชียตะวันออก เพราะเชื่อว่าจะเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าโลกยุคใหม่ในเวลาไม่นาน

ชิลีคือประเทศละตินอเมริกาประเทศแรกที่บรรลุข้อตกลงเปิดเสรีการค้ากับจีนและเกาหลีใต้ ในขณะที่เปรูเพิ่งจัดทำข้อตกลงกับจีนไปเมื่อช่วงต้นปี และกำลังจะมีข้อตกลงกับเกาหลีใต้และประเทศไทย ศาสตราจารย์ Fernando Gonzalez-Vigil แห่งภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย del Pacifico ในเปรู เชื่อว่าข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างประเทศในอเมริกาใต้กับเอเชียจะเกิดขึ้นอีกมาก โดย Trans-Pacific Partnership หรือ TPP จะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงข้อตกลงแบบทวิภาคีข้ามทวีปที่มีอยู่แล้วนั้นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

นักเศรษฐศาสตร์เปรูผู้นี้บอกว่า TPP จะทำหน้าที่เสมือนข้อตกลงพหุภาคีที่รวบรวมหลักการและกฎเกณฑ์พื้นฐานต่างๆ สำหรับข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะกี่ฉบับก็ตาม พูดง่ายๆก็คือ ข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศจะไม่ถูกยกเลิกหรือแทนที่ด้วย TPP หรือความร่วมมือทั่วภาคพื้นแปซิฟิกนี้ แต่จะนำมาใช้ร่วมกัน

คาดว่าญี่ปุ่นและสหรัฐจะผลักดันเรื่อง TPP อย่างแข็งขันระหว่างการประชุม APEC ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 13-14 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญอยู่ที่จีน ซึ่งยังไม่ประกาศจุดยืนเรื่องความร่วมมือทั่วภาคพื้นแปซิฟิกออกมาอย่างเป็นทางการ โดยนักวิเคราะห์เชื่อกันว่าหากจีนไม่ร่วมด้วย TPP จะลดประโยชน์และความสำคัญลงทันที และยิ่งเมื่อมองไปที่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมทั้งความตึงเครียดทางการฑูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่นแล้ว หลายฝ่ายเชื่อกันว่า ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

XS
SM
MD
LG