ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ท้องทะเลกลายเป็นแหล่งส่วนประกอบยารักษาโรคที่สำคัญ


มนุษย์เราใช้ประโยชน์จากพืชและสัตว์ในธรรมชาติเป็นยารักษาโรคมาแต่โบราณ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันพบว่ามหาสมุทรอาจจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดีกว่าป่าฝนเขตร้อน

มันดี ฮอล์ฟอร์ด นักเคมีวิทยา กำลังศึกษาพัฒนายาตัวใหม่จากหอยทะเลที่กินปลาเป็นอาหาร แต่การศึกษานี้เริ่มจากความชอบในความสวยงามของเปลือกหอย

เธอบอกว่าเธอเห็นหอยชนิดนี้แล้วหลงรักเพราะเปลือกสวยงามมาก แต่เมื่อศึกษาดูแล้วพบว่าหอยชนิดนี้มีสารพิษที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่ควบคุมความเจ็บปวด เมื่อหอยไปกัดกินปลาจะฉีดสารพิษที่มีกรดอะมีโนเข้าไปในตัวปลาปลาไม่รู้สึกเจ็บและไม่รู้ตัวว่ากำลังตกเป็นอาหารของหอย ปลาจึงไม่ต่อสู้หรือดิ้นรนทั้งๆที่หอยกำลังกัดกินเนื้ออยู่ก็ตาม

ทีมนักเคมีวิทยาประสบความสำเร็จในการใช้สารที่ได้จากหอยชนิดนี้ไปผลิตเป็นยาลดอาการเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยเอดส์

คุณมันดี ฮอล์ฟอร์ด นักเคมีวิทยากล่าวว่าในระบบประสาทของคนเรา มีด่านหลายด่านที่เป็นตัวควบคุมระบบประสาทส่วนกลางในการรับการสื่อสารจากส่วนต่างๆในร่างกาย ในส่วนของตัวควบคุมความรู้สึกเจ็บปวดที่รุนแรง ทีมนักเคมีวิทยาได้ค้นพบหนทางปิดด่านตัวนี้ไม่ให้ส่งผ่านความรู้สึกเจ็บปวดไปยังสมองด้วยการใช้สารเคมีที่สกัดจากหอยชนิดดังกล่าว

แม้ว่าคุณฮอล์ฟอร์ด นักเคมีวิทยาจะสนใจศึกษาหอยชนิดต่างๆเพราะความสวยงามแต่จริงๆแล้วนี่ส่วนหนึ่งของแนวทางการวิจัยชีวิตใต้ทะเลแนวใหม่

ด้านเดวิด นิวแมน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาค้นพบสารเคมีที่น่าทึ่งจำนวนมากจากการศึกษาสัตว์ใต้ท้องทะเลขนาดเล็ก

คุณเดวิด นิวแมน หลังจากค้นหาและเก็บรวมรวมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนพื้นโลกมานานหลายปี ทีมงานของเขาได้หันไปศึกษาสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเพียงอย่างเดียว คือ ปะการังที่มีหน้าตาเหมือนกับฟองน้ำ เขาบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าปะการังชนิดนี้มีสารเคมีที่เป็นพิษเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกปลาดาวหรือสัตว์อื่นๆกัดกิน เขาเทียบสารเคมีในปะการังนี้ว่าเป็นเหมือนอาวุธที่มีคลังแสงร้ายแรง เขาพบว่าสารเคมีดังกล่าวมีความเป็นพิษมากขึ้นเมื่อผสมกับความเค็มของน้ำทะเล

สารธรรมชาติจากสัตว์ใต้ทะเลกำลังเป็นที่สนใจของนักเคมีวิทยาอย่างมากโดยเฉพาะสถาบันวิทยาศาสตร์ที่กำลังค้นหายาที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเซลร้ายของมะเร็ง

ส่วนดินโคลนที่อยู่ลึกลงไปอีก 9 กิโลเมตรจากระดับแนวปะการัง เป็นแหล่งทรัพยากรที่สร้างความหวังให้นักเคมีวิทยา

คุณวิลเลี่ยม เฟ็นนิเคิ้ล ผู้อำนวยการของศูนย์ Marine Biotechnology และ Biomedicine แห่งสถาบันทะเลศึกษา Scripps Institute ในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลกเป็นดินโคลนใต้ทะเลลึก ทีมงานของเขาเน้นศึกษาสิ่งมีชีวิตเซลเดียวที่อาศัยบนพื้นผิวดินใต้ทะเล

คุณเฟ็นนิเคิ้ล กล่าวว่า ดินโคลนใต้ทะเลในขนาดเท่ากับก้อนน้ำตามหนึ่งก้อน มีสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วอาศัยอยู่ราวหนึ่งหนึ่งพันล้านเซล มากกว่าที่พบในดินบนพื้นโลกเหนือน้ำถึงหนึ่งล้านเท่า

คุณเฟ็นนิเคิ้ลเชื่อว่าโคลนใต้มหาสมุทรเป็นแหล่งที่ดีกว่าในพื้นดินในการเสาะแสวงหาส่วนประกอบของยา อาทิ ยาปฏิชีวนะ ทีมงานของเขากำลังพัฒนายาสองชนิดอยู่ในขณะนี้และเขาหวังว่าท้องทะเลจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่ไม่มีที่สิ้นสุดในการผลิตยาที่มีสารสกัดจากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
XS
SM
MD
LG