ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยระบุแบคทีเรียดี-ไม่ดีในท้องคนเราอาจมีบทบาทสำคัญต่อน้ำหนักตัวและโรคอ้วน


นักวิจัยเชื่อว่าการเกิดโรคอ้วนนั้นอาจมีอะไรมากกว่าปริมาณอาหารที่รับประทาน หรือปริมาณการออกกำลังกาย เพราะรายงานชิ้นล่าสุดของนักวิจัยที่ Washington University ระบุว่า แบคทีเรียที่อยู่ในท้องของเราอาจมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เราอ้วนหรือผอมได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้อาจทำให้เราเข้าใจถึงการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น

นักวิจัยเริ่มต้นด้วยการนำหนูทดลองกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกเลี้ยงภายใต้สภาพแวดล้อมที่ฆ่าเชื้อโรคแล้ว ทำให้ไม่มีเชื้อโรคอยู่ในท้องของหนูเหล่านั้น จากนั้นนำจุลินทรีย์ที่เติบโตในท้องของมนุษย์แฝดคู่หนึ่งมาใส่ไว้ในท้องของหนูทดลอง โดยยีนของแฝดคู่นี้เหมือนกันทุกประการ แต่คนหนึ่งเป็นโรคอ้วน ส่วนอีกคนไม่เป็น

ผลการทดลองปรากฎว่า หนูทดลองที่มีจุลินทรีย์จากท้องของแฝดที่เป็นโรคอ้วนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหนูตัวที่ได้รับจุลินทรีย์จากแฝดที่ไม่เป็นโรคอ้วน และพบว่าหนูที่มีจุลินทรีย์โรคอ้วนมีปัญหาที่ระบบการเผาผลาญอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่พบในคนที่เป็นโรคอ้วน

นอกจากนี้ นักวิจัยที่ Washington University ยังพบความน่าสนใจบางอย่าง เมื่อนำหนูทดลองที่มีจุลินทรีย์โรคอ้วนกับหนูที่มีจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นโรคอ้วย มาขังไว้ในกรงเดียวกัน โดยนักวิจัย Jeffrey Gordon บอกว่าเมื่อจุลินทรีย์ที่อยู่ในหนูทดลองตัวผอมย้ายที่อยู่เข้าไปอาศัยในท้องของหนูทดลองที่เป็นโรคอ้วน จะมีผลช่วยชะลอให้น้ำหนักตัวของหนูทดลองตัวนั้นไม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป หากต้องการผลิตยาผสมเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดี เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักและป้องกันไม่ให้เป็นโรคอ้วน ถึงกระนั้น นักวิจัยชี้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการควบคุมอาหารการกิน

งานวิจัยเรื่องบทบาทของแบคทีเรียในท้องคนเรากับการเป็นโรคอ้วนชิ้นนี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science

รายงานจาก Steve Baragona / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG