ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันกับผลงานที่คว้ารางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ 2011


สองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันกับผลงานที่คว้ารางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ 2011
สองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันกับผลงานที่คว้ารางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ 2011

The Royal Swedish Academy of Sciences ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ ได้แก่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน 2 คนคือ ศาสตราจารย์ Thomas Sargent และศาสตราจารย์ Christopher Sims ผู้ศึกษาถึงผลกระทบของการใช้นโยบายด้านการเงินที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรับมือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ Thomas Sargent วัย 68 ปีจากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย New York และศาสตราจารย์ Christopher Sims วัย 68 ปีเช่นกันจากคณะเศรษฐศาสตร์และการธนาคาร มหาวิทยาลัย Princeton คือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี ค.ศ 2011

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาค เช่นมาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดภาษี ว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวแปรอื่นๆ เช่นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP และภาวะเงินเฟ้ออย่างไร

ศาสตราจารย์ Thomas Sargent นั้นได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเศรษฐมิติมหภาคเชิงโครงสร้างสมัยใหม่ งานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เน้นที่การศึกษาเชิงประจักษ์ที่มีรากฐานจากการศึกษานโยบายเงินเฟ้อในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศใช้นโยบายอัตราเงินเฟ้อระดับสูง

ทางด้านศาสตราจารย์ Christopher Sims ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการศึกษาเศรษฐศาสตร์แบบที่เรียกว่า Vector Auto-Regression หรือ VARs คือการใช้ข้อมูลในอดีตเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจแบบมหภาค โดยเฉพาะผลกระทบของมาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีต่อเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆใช้ทฤษฎีของศาสตราจารย์ทั้งสองท่านนี้ประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านการเงิน

ศาสตราจารย์ Danny Quah ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง London School of Economics ผู้เคยศึกษากับศาสตราจารย์ Thomas Sargent กล่าวว่าศาสตราจารย์ทั้งสองท่านเหมาะสมอย่างยิ่งกับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ พร้อมระบุว่าผลงานของศาสตราจารย์ทั้งสองท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์หาทางจัดการกับวิกฤตการณ์การเงินในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ Christopher Sims หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล กล่าวทางโทรศัพท์ระหว่างการประชุมแถลงข่าวที่กรุงสต็อกโฮล์มว่า การแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินในขณะนี้ไม่ใช่งานง่ายๆ แต่เชื่อว่าแนวทางหรือวิธีที่ตนและศาสตราจารย์ Sargent ศึกษาและพัฒนามานั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการหาวิธีช่วยให้หลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้

ศาสตราจารย์ Thomas Sargent และศาสตราจารย์ Christopher Sims จะได้รับเงินรางวัลรวมประมาณ 1 ล้าน 5 แสนดอลล่าร์ ซึ่งต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

XS
SM
MD
LG