ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คุ้นไหม? โรงเลี้ยงแมลงสหรัฐฯ ผุดเมนูสลัดจักจั่นคลุกเคล้าเครื่องปรุง


เมนูจักจั่นที่เสิร์ฟพร้อมผักและเครื่องปรุง โดยฝีมือของแซค เลแมนน์ ภัณฑารักษ์ประจำโรงเลี้ยงแมลงออโดบอน เมืองนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียนา (ที่มา: AP)
เมนูจักจั่นที่เสิร์ฟพร้อมผักและเครื่องปรุง โดยฝีมือของแซค เลแมนน์ ภัณฑารักษ์ประจำโรงเลี้ยงแมลงออโดบอน เมืองนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียนา (ที่มา: AP)

ชวนดูเมนูจากจักจั่นของโรงเลี้ยงแมลงที่รัฐหลุยส์เซียนา ต้อนรับการมาเยือนของจักจั่นตาแดง ศัตรูพืชที่มาตามฤดูกาล ที่ปรุงสุกและเสิร์ฟกับสารพัดวัตถุดิบ ทั้งที่หาได้ตามท้องถิ่น ไปจนถึงสิ่งที่ขากินแมลงชาวไทยต้องคุ้นเคย

แซค เลแมนน์ ภัณฑารักษ์ประจำโรงเลี้ยงแมลงออโดบอน เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา ที่พยายามคิดค้นเมนูจากจักจั่น ได้นำเสนอต้นแบบอาหารในช่วงสัปดาห์นี้ ด้วยการนำจักจั่นไปอบในเตา แล้วเสิร์ฟพร้อมกับผักสลัดสีเขียว แอปเปิล เม็ดอัลมอนด์ น้ำสลัดวิเนเกรตบลูเบอร์รี จากนั้นโรยด้วยตัวอ่อนจักจั่นชุบแป้งทอด และปรุงด้วยครีโอลมัสตาร์ดกับซอสถั่วเหลือง

เลแมนน์กล่าวว่า “ผมทำแบบคล้าย ๆ กันกับแมลงปอด้วย”

วัตถุดิบสำคัญของเมนูนี้ ก็คือตัวจักจั่นตาแดงที่ฝังตัวอยู่ใต้ดิน และจะออกมาโบยบินทุก ๆ 13-17 ปี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยคาดว่าในปีนี้ จะมีจักจั่นสองฝูงใหญ่ ๆ ตื่นจากการหลับไหลในพื้นที่กว่า 100 ล้านเอเคอร์ (ราว 400,000 ตร.กม.) ในพื้นที่ 16 รัฐในเขตมิดเวสต์และตอนใต้ของสหรัฐฯ

สำหรับจำนวน เป็นที่คาดการณ์ว่าประชากรจักจั่นจะมีความหนาแน่นอยู่ที่ 1 ล้านตัวต่อเอเคอร์ (4,000 ตร.ม.)

ในเรื่องของรสชาติ เอพีระบุว่า จักจั่นให้รสชาติคล้ายกับลูกไม้ย่าง ทั้งนี้ เมนูแมลงไม่ใช่สิ่งใหม่ในสหรัฐฯ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีตำราอาหารมากมายที่มีแมลงเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบ และในปี 2004 มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เคยออกตำราอาหารที่อุทิศให้จักจั่นอย่างเดียว ชื่อ “Cicada-Licious

เลแมนน์กล่าวว่า ทุกวัฒนธรรมมีสิ่งที่คนนิยมรับประทาน และสิ่งที่คนเห็นแล้วอาจจะต้องกล้ำกลืนฝืนกิน ทว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำอย่างนั้นกับแมลง หากคุณดูที่คุณค่าทางสารอาหาร คุณภาพของมันบนจาน รสชาติ และประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้แมลงแทนที่ปศุสัตว์”

นักกีฏวิทยาระบุว่า โดยปกติ จักจั่นแดงจะโผล่ขึ้นมาเมื่อพื้นดินมีอุณหภูมิ 17.8 องศาเซลเซียส ซึ่งในตอนนี้ถือว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคย เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG