ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยเชื่อว่ายาปฏิชีวนะตัวใหม่จะไม่ทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา


Antibiotic medicine
Antibiotic medicine

ทีมนักวิจัยได้ค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับมือกับการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงหลายชนิด

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:12 0:00
Direct link

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขนานาชาติทั่วโลกต่างแสดงความกังวลว่ายาปฏิชีวนะหลายๆ ตัวที่เคยมีประสิทธิผลสูงในการบำบัดอาการติดเชื้อ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว เริ่มพ่ายแพ้ต่อเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่ดื้อยาในปัจจุบัน

หนึ่งในเชื้อแบคทีเรียดื้อยาคือเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรค ที่ทำให้ประชากรโลก 1 ใน 3 ติดเชื้ออย่างไม่รู้ตัวและในบางครั้งทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่เป็นอันตรายถึงชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียสเตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส ที่ดื้อต่อยาเมธิซิลิน (methicillin-resistant Staphylococcus aureus) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MRSA ((MER-suh)) ที่กำลังระบาดในโรงพยาบาล คลินิคและบ้านพักผู้สูงอายุ

ขณะนี้ มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่ค้นพบโดยทีมนักวิจัยนานาชาติทีมหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพในการบำบัดการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่ายาปฏิชีวนะหลายๆ ตัวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ดังกล่าวนี้ชื่อว่า เท็ซโอแบคทิน (teixobactin) ซึ่งผลิตจากเชื้อแบคทีเรีย เอลเล็ฟธีเรีย เทอเรีย (Eleftheria terrae) แบคทีเรียตัวนี้เป็นหนึ่งในเชื้อแบคทีเรีย 10,000 สายพันธุ์ที่ยังไม่เคยถูกทดสอบและพบในดิน บริษัท Novo Biotic เป็นผู้ผลิตส่วนผสมของยาปฏิชีวนะตัวใหม่นี้

คุณ Kim Lewis ผู้อำนวยการแห่งศูนย์ Antimicrobial Discovery Center ที่มหาวิทยาลัย Northeastern University ในเมือง Boston รัฐ Massachusetts เป็นผู้ร่างรายงานอาวุโสของผลการวิจัยนี้ เขากล่าวว่ายาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ ที่ใช้กันมานานร่วม 50 ปีแล้ว ก็พัฒนามาจากเชื้อแบคทีเรียที่พบในดินเช่นกัน ทำงานด้วยการเกาะติดกับโปรตีนของเชื้อแบคทีเรียที่จำเป็นต่อการขยายตัวของเชื้อโรค

คุณ Lewis กล่าวว่าหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะดั้งเดิมในการรักษามานานหลายปี เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ได้ปรับตัวและดื้อต่อยา

เขากล่าวว่าเชื้อโรคเริ่มกลายพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงในตัวโปรตีนของเชื้อแบคทีเรียทำให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดที่ใช้กันอยู่บำบัดเชื้อโรคไม่ได้ผล เขากล่าวว่าเป้าหมายของยาปฏิชีวนะตัวใหม่ไม่ได้อยู่ที่ตัวโปรตีนของเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไปแต่มันจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยการทำลายผลังของเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่สามารถกลายพันธุ์ได้ นี่ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถปรับตัวดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ได้

ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่นี้ได้รับการทดสอบในหนูทดลองที่ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก้าวร้าวสามชนิด คือ เชื้อแบคทีเรียคลอสตรีเดี่ยม ดิฟฟิซิล (Clostridium difficile) เชื้อไมโคแบคทีเรี่ยม ทูเบอร์คูลัส (Mycobacterium tuberculous) และเชื้อสเต็ปฟิลโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ผลการทดลองรักษาแสดงว่ายาปฏิชีวนะชนิดใหม่สามารถบำบัดอาการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงเหล่านี้ได้ทั้งหมด

ผลการค้นพบและทดลองยาปฏิชีวนะตัวใหม่นี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ไปเมื่อเร็วๆ นี้
คุณ Gerry Wright เป็นผู้เชี่ยวชาญแห่งภาควิชาชีวเคมีและชีวการแพทย์ที่มหาวิทยาลัย McMaster University ใน Ontario ประเทศ Canada

ในบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์พร้อมกับผลงานวิจัยของคุณ Lewis คุณ Wright กล่าวว่า ตัวยาเท็ซโอแบคทิน (teixobactin) และตัวยาอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกันนี้เป็นที่ต้องการในวงการแพทย์มานานแล้ว

คุณ Wright กล่าวว่าการค้นพบตัวยาเท็ซโอแบคทิน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าเพราะน่าจะนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่สามารถรับมือกับเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงที่ดื้อยาได้ และเชื้อแบคทีเรียจะไม่สามารถปรับตัวดื้อต่อยาตัวใหม่นี้ได้ในภายหลัง


คาดการณ์ว่าการพัฒนา ตัวยาเท็ซโอแบคทินให้เป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่จากนี้คงต้องใช้เวลาอีกราว 5 ปี เพราะต้องมีการนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองและต้องทดลองรักษาทางคลีนิคเสียก่อน

XS
SM
MD
LG