ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดีลหยุดยิงล่มในเมียนมา เผยขีดจำกัดด้านอิทธิพลจีนในภูมิภาค


แฟ้มภาพ - สมาชิกของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รู้จักในชื่อ พันธมิตรสามภราดร ตรวจสอบรถหุ้มเกราะที่ยึดมาจากกองทัพเมียนมา ในรัฐฉาน เมื่อ 24 พ.ย. 2023 (The Kokang online media/AP)
แฟ้มภาพ - สมาชิกของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รู้จักในชื่อ พันธมิตรสามภราดร ตรวจสอบรถหุ้มเกราะที่ยึดมาจากกองทัพเมียนมา ในรัฐฉาน เมื่อ 24 พ.ย. 2023 (The Kokang online media/AP)

ข้อตกลงหยุดยิงทางตอนเหนือของเมียนมา ซึ่งมีจีนเป็นตัวกลางการเจรจาที่ล่มไปอย่างรวดเร็ว ได้เผยให้เห็นขีดจำกัดของอิทธิพลจีนในภูมิภาค แม้ว่าจีนจะพยายามพลิกการรุกคืบด้านการทหารของพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ให้กลายเป็นโอกาสของจีนในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

“ข้อตกลงไห่เก็ง” (Haigeng agreement) ที่ประกาศเมื่อ 12 มกราคม มีอายุขัยเพียงแค่ไม่ถึง 1 วัน หลังจากมีผู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่เผยว่ามีการยิงปะทะกันทั่วรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมา ที่ติดกับพรมแดนจีน

พันธมิตรสามภราดร (Three Brotherhood Alliance) กลุ่มพันธมิตรกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ประกอบด้วยกองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance Army - MNDAA) กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) ออกแถลงการณ์ 1 วันหลังจากการเจรจาหารือ โดยกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมาเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีในหลายพื้นที่ก่อน

พิกัดโจมตีใหญ่เกิดขึ้นใกล้กับเมืองจาวเม (Kyaukme) เมืองเล็ก ๆ อันคึกคัก บริเวณริมถนนมัณฑะเลย์-ลาโช (Mandalay-Lashio Road) ในพื้นที่เทือกเขาใกล้กับพรมแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเมียนมาและจีน และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จากจีนในช่วงหลายปีมานี้

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในจาวเม ซึ่งไม่เปิดเผยนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย บอกกับวีโอเอในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขาได้ยิงเสียงรัวปืนต่อสู้ร่วมชั่วโมงในช่วงเช้าหลังจากข้อตกลงหยุดยิงมีผลบังคับใช้ โดยบอกว่า “มันเป็นเหตุยิงกราดในจาวเม” และว่า “ชาวบ้านเริ่มหลบหนีเพื่อความปลอดภัยหลังจากการปะทะกันของทั้งสองฝั่งในเมือง”

แถลงการณ์ล่าสุดจากพันธมิตรสามภราดร ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา กล่าวถึงการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากกองทัพเมียนมา ซึ่งรวมถึงการโจมตีทางอากาศ 16 ครั้งในหมู่บ้านหลายแห่งในรัฐฉาน ผู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ได้ยืนยันการโจมตีทางอากาศหลายครั้งกับทางวีโอเอ

พันธมิตรสามภราดร กล่าวหากองทัพเมียนมาว่าล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ในการเจรจานับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มีจีนเป็นตัวกลาง โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “จากวันที่บรรลุ ‘ข้อตกลงไห่เก็ง’ จนถึงวันนี้ ฝั่งของเราได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด ... เราอดทนและอดกลั้นด้วยการไม่เข้าร่วมการต่อสู้ ไม่เช่นนั้นเราคงได้ดำเนินการตามเป้าหมายการปฏิบัติการและการรบยึดครองเมืองที่ได้วางแผนไว้ก่อนการหยุดยิงแล้ว”

ด้านโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา พลเอกซอว์ มิน ตุน ระบุว่ารายงานการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง และว่ารัฐบาลทหารเมียนมามีแผนที่จะหารือเพิ่มเติมและสร้างข้อตกลงหยุดยิงให้แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งจะหารือเพิ่มเติมกับจีนในการกลับมาเปิดพรมแดนการค้าระหว่างกัน

ทั้งนี้ วีโอเอไม่สามารถติดต่อสำนักโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ของพันธมิตรกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ขณะที่ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารเมียนมาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการทหารล่าสุดนี้แต่อย่างใด

ผลประโยชน์ของจีนบนเส้นทางการค้ากับเมียนมา

ต่าน โซ นาย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเมียนมา และอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma) เผยกับวีโอเอว่า ผลประโยชน์หลักของการเจรจาสันติภาพเมียนมา อยู่บนความต้องการของจีนในการกลับมาเปิดเส้นทางการค้าระหว่างเมียนมาและมณฑลยูนนาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเมียนมา เสริมว่า “มุมมองของจีนเห็นว่าการจัดการกับเมืองที่อยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างจีนและเมืองในเมียนมาอย่างมัณฑะเลยห์ ลาโช ด้วยวิถีทางเดียวกับที่ใช้กับเมืองเล้าก์ก่าย (Laukkai) อาจสามารถช่วยเปิดเส้นทางการค้าได้”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมาจะตอบรับความช่วยเหลือของจีนหรือไม่นั้นยังคงเป็นประเด็นคำถามอยู่ เพราะหากเมืองลาโชเต็มไปด้วยกองทัพแล้ว การต่อสู้อันดุเดือดในพื้นที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เล้าก์ก่าย เมืองพรมแดนเมียนมากับจีนที่มีชื่อเสียงด้านการพนัน การค้าประเวณี และอาชญากรรมไซเบอร์ อยู่ในการครอบครองของพันธมิตรสามภราดร เมื่อ 5 มกราคม และจัดตั้งการปกครองตนเองในเมืองดังกล่าวในสัปดาห์นี้ หลังจากเดินหน้าภารกิจโจมตี “1027” ของกลุ่มพันธมิตรกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์มาตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเมียนมารายนี้ยังบอกว่า “จีนก็อาจจะสนับสนุนการพัฒนาในรูปแบบนี้ในลาโชเช่นกัน” เนื่องจากเมืองดังกล่าวเป็นเมืองใหญ่สุดในรัฐฉาน และตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นจุดสิ้นสุดของ “Burma road” อันเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อเมืองลาโชไปยังมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของฐานทัพใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายต่อไปของพันธมิตรสามภราดร

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการโครงการเมียนมา แห่งสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ (United States Institute of Peace) เปิดเผยกับวีโอเอว่า เขาเชื่อว่าจีนจะเลือกเส้นทางแห่งการประนีประนอม ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาจะยอมยกพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือ ในขณะที่พันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์จะลดเป้าหมายในการต่อสู้

ที่ผ่านมา จีนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา อย่างเช่น เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเยวา บริเวณแม่น้ำชเวลี ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จก่อนที่กองทัพเมียนมาจะก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 และรัฐบาลทหารเมียนมาพยายามกลับมาฟื้นโครงการดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้

จีนได้ประโยชน์บนความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

ทาวเวอร์ เสริมว่า "จีนอยู่ในฝั่งที่ทั้งช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในการรุกคืบบางพื้นที่ด้วยเป้าหมายทางการเมือง ในขณะที่ยื่นมือเข้าช่วยกองทัพเมียนมาด้วยการกดดันกลุ่มพันธมิตรสามภราดรไปพร้อมกัน” โดยจีนยังคงดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมา อย่างเช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ และจีนยังถือว่ากองทัพเมียนมายังมีประโยชน์กับจีนอยู่

ลาห์ จอว์ ซอว์ นักวิชาการพม่า-จีนประจำอยู่ในประเทศจีน บอกกับวีโอเอว่านโยบายของปักกิ่งโดยทั่วไปก็คือ “เปิดกว้างกับทุกฝ่าย”

การกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์ไปจนถึงความมั่นคงด้านพลังงาน

จีนยังหวังว่าการรักษาเสถียรภาพพรมแดนจะช่วยในการต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์ของจีน ซึ่งมีขึ้นอย่างแพร่หลายในโกก้างและมุ่งเป้ามายังพลเมืองจีนเป็นหลัก หลังจากความสำเร็จของปฏิบัติการ “1027” รัฐบาลปักกิ่งเห็นโอกาสที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรสามภราดรในการเข้าจัดการกับนักต้มตุ๋นเหล่านี้

นาย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเมียนมา มองว่า “จีนเห็นความจริงที่ว่าแก๊งอาชญากรรมไซเบอร์ได้รับการปกป้องจากกองทัพเมียนมา ทำให้ยากสำหรับจีนที่จะหยุดขบวนการนี้ในการมุ่งเป้าพลเรือนชาวจีน” แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะให้คำมั่นในการร่วมมือกับจีนในการปราบปราบขบวนการดังกล่าวก็ตามที

แต่ในทัศนะของทาวเวอร์ มองว่าผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคนี้ “ยิ่งใหญ่กว่าการกวาดล้างขบวนการอาชญากร”

ทาวเวอร์ บอกว่า “ผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าในภูมิภาคนี้คือความมั่นคงด้านพลังงานของจีน เนื่องจากเมียนมาจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปจีนในรูปแบบของโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมา ซึ่งส่งก๊าซธรรมชาติไปให้กับ 4 มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และช่วยกระตุ้นผลผลิตมวลรวมในประเทศในแก่มณฑลยูนนานอย่างมีนัยสำคัญ” และว่านั่นคือเหตุผลที่จีนผลักดันพันธมิตรสามภราดรให้ยุติการปฏิบัติในกว้างในระหว่างที่พยายามหารือกับกองทัพเมียนมาไปพร้อมกัน

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG