ท่ามกลางกระแส #MeToo ที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเปิดเผยเรื่องราวารถูกก่อกวนรังควานทางเพศในที่ทำงานกำลังถูกพูดถึงไปทั่วโลก วงการภาพยนตร์ก็ตีเหล็กตอนร้อนในการนำเสนอแง่มุมของกลุ่มผู้หญิง ที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดโปงผู้บริหารชายที่ใช้อำนาจโดยมิชอบในการคุกคามทางเพศพวกเธอ และประสบความสำเร็จ
อย่างภาพยนตร์ “Bombshell” ที่จะพาไปคลุกวงในกับข่าวร้อนกระฉ่อนวงการสื่อในสหรัฐฯ ด้วยการเขียนบทของ ชาร์ล แรนโดล์ฟ เจ้าของออสการ์สาขาภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก The Big Short
“Bombshell” หยิบเกลือมาขยี้แผลสดๆ เมื่อปี 2016 จากกรณีสุดฉาวที่ เกรทเชน คาร์ลสัน (นิโคล คิดแมน) เมเกน เคลลี (รับบทโดย ชาร์ลีซ เธอโรน) และเคย์ลา (มาร์โกต์ ร็อบบี้) สามสาวผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ ร่วมมือกันเปิดโปงโรเจอร์ ไอล์ส เจ้าพ่อวงการข่าวของสถานีโทรทัศน์ Fox News ในยุคนั้น ชายผู้ใช้อำนาจของตัวเองก่อกวนรังควานและคุกคามทางเพศนักข่าวและผู้ดำเนินรายการหญิงหลายสิบราย
เป็นหนังที่เดินเรื่องเร็วในการอารัมบท ตัดสลับไทม์ไลน์จริงกับส่วนเสริมในหนังได้ดีและไม่รู้สึกอึดอัดในการนำเสนอและรับชม ซึ่งในความจริงนั้นมีเพียง เกรทเชน คาร์ลสัน และเมเกน เคลลี ที่มีตัวตนอยู่จริงและเป็นที่รู้จักในวงการสื่อสหรัฐฯ ในวงกว้าง แต่ในหนังได้อธิบายที่มาที่ไปของตัวละครแต่ละคน พร้อมทั้งใส่ตัวละครสมมติอย่างเคย์ลา นักข่าวสาวในทีมรายการบ่ายที่ทะยานอยากจะเติบโตในสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ มาเป็นตัวเพิ่มสีสันให้หนังได้มากทีเดียว
เชื่อว่าหลายคนอยากไปดูเรื่องนี้เพราะนักแสดงสาวระดับแม่เหล็กก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งพลังของ 3 นักแสดงสาว นิโคล คิดแมน, ชาร์ลีซ เธอโรน และมาร์โกต์ ร็อบบี้ ตีบทแตกกระจุยในความเห็นส่วนตัว โดยเฉพาะชาร์ลีซ เธอโรน ที่ท่าทางน้ำเสียงและการแต่งหน้าพิเศษ เหมือนสิงร่างเมเกนตัวจริงเข้าไปเล่นเลยทีเดียว
ขณะที่เกรทเชนในสไตล์ของนิโคล คิดแมนนั้น ช่างเป็นอดีตมิสอเมริกาที่กล้าหาญและเด็ดเดี่ยวมาก เรียกได้ว่าโผล่มาน้อยแต่เด่นนะ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์จนตรอกในการเป็นดาวตกในวงการสื่อ ยิ่งทำให้หนังสนุกไปอีก ส่วนมาร์โกต ร็อบบี้ ถือว่าสวยมีสเน่ห์แบบไม่ต้องปรุงแต่งเหมือนกับ 2 สาวก่อนหน้า เพราะไม่ใช่ตัวละครจริงๆ จึงเป็นช่วงเวลาปลดปล่อยจินตนาการในภาพยนตร์ ซึ่งเธอทำได้ดีในระดับหนึ่ง
สิ่งที่โดนใจในเรื่องนี้ เห็นจะเป็นช่วงท้ายๆ ที่เล่าถึงเรื่องจริงปวดใจของผู้ที่ถูกก่อกวนรังควานทางเพศ ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือที่ไหนก็ตามว่า เพราะเมื่อพูดถึงเหยื่อที่ถูกรังควาน ที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องลับของตัวเอง พวกเธอมักถูกตอกกลับจากสังคมว่า “แต่งตัวยั่วยวนไหมในตอนนั้น?” “อยากดังหรือเปล่า?” หรือแม้กระทั่ง “พวกเธอยินยอมพร้อมใจให้เกิดเรื่องน่าอายเหล่านั้นหรือเปล่า?” และสิ่งที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง คือ การข่มขู่ หรือทวงบุญคุณของผู้มีอำนาจว่าได้อุ้มชูอุปถัมป์เหยื่อให้ได้โอกาสที่ดีกว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนไปแล้ว
โดยสรุปแล้ว “Bombshell” เป็นภาพยนตร์ที่สนุกดูเพลินและอิงกับสถานการณ์จริงในสังคม แม้ว่าจะเป็นการเปิดหัวอิงกระแส MeToo ที่เหมือนจะซาๆไปในช่วงนี้ แต่อย่างที่หนังได้เกริ่นไว้ว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของผู้เป็นใหญ่ที่คิดจะใช้อำนาจโดยมิชอบให้คิดอย่างรอบคอบอีกครั้ง!
(บทวิจารณ์ภาพยนตร์โดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)