ลิ้งค์เชื่อมต่อ

WHO ชี้ประชากรโลกส่วนใหญ่ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงยังไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น


WHO ชี้ประชากรโลกส่วนใหญ่ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงยังไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น
WHO ชี้ประชากรโลกส่วนใหญ่ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงยังไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น

รายงานชิ้นใหม่ขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่มีระดับคอเรสเตอรอลในร่างกายสูงไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่จำเป็นเพื่อควบคุมระดับคอเรสเตอรอลไม่ให้เพิ่มขึ้น รายงานดังกล่าวคือการรวบรวมข้อมูลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา โดยเก็บข้อมูลจากประชากรโลกราว 147 ล้านคนในสหรัฐ อังกฤษ เยอรมันนี ญี่ปุ่น จอร์แดน เม็กซิโก สก็อตแลนด์และประเทศไทย

รายงานขององค์การอนามัยโลก WHO ชี้ว่าประชากรโลกส่วนใหญ่ที่มีระดับคอเรสเตอรอลสูงยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่จำเป็น ส่งผลให้โรคร้ายเช่นโรคหัวใจล้มเหลวและโรคเส้นโลหิตเลี้ยงสมองอุดตัน แพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายงานชิ้นนี้ยกตัวอย่างประเทศไทยที่ซึ่งประชากรผู้มีระดับคอเรสเตอรอลสูงราว 78% ไม่เคยเข้ารับการตรวจ และที่ญี่ปุ่น 53% ของผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีระดับคอเรสเตอรอลสูง ยังไม่เคยเข้ารับการรักษาอย่างจริงๆจังๆ

Dr. Shanthi Mendis ผู้ประสานงานของฝ่ายสนับสนุนด้านสาธารณสุขและโรคเรื้อรังขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ปัจจุบันประชากรในประเทศยากจนทนทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นผลมาจากระดับคอเรสเตอรอลสูงมากกว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งนี้เรียกว่าช่องว่างทางการรักษา ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนาจะมีช่องว่างที่ว่านี้มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

Dr. Mendis ชี้ว่าปัจจัยสำคัญมี 2 อย่าง หนึ่งคือประชากรในประเทศยากจนมักจะไม่เห็นความสำคัญของการตรวจวัดระดับคอเรสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเส้นเลือด รวมทั้งความดันเลือด ซึ่งควรตรวจวัดเป็นประจำสม่ำเสมอเมื่ออายุเกิน 40 ปีไปแล้ว สองคือระบบการดูแลสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนายังคงอ่อนแอ และการจะเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่ดีได้นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป แม้แต่ในประเทศรายได้สูงก็ยังมีประชากรจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ที่จำเป็นดังกล่าว

แพทย์เชื่อกันว่าระดับคอเรสเตอรอลสูงมักเป็นตัวการทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุด คิดเป็นตัวเลขมากกว่า 17 ล้านคนในแต่ละปี โดย 80% ของจำนวนผู้เสียชีวิตนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

Dr. Mendis กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่นเลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและการทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวและโรคเส้นโลหิตเลี้ยงสมองอุดตันได้ และว่าในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง ยาลดระดับคอเรสเตอรอลหรือลดความดันเลือดก็อาจช่วยลดความเสี่ยงนั้นได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Dr. Mendis บอกว่าสิ่งสำคัญก็คือควรทราบตั้งแต่เนิ่นๆว่าตนมีระดับคอเรสเตอรอลสูงเกินปกติหรือไม่

Dr. Shanthi Mendis ชี้ว่ามีผู้คนจำนวนมากมายที่ไม่เข้ารับการตรวจ และต้องกลายเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและโรคเส้นโลหิตเลี้ยงสมองอุดตันในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียทั้งต่อตัวบุคคล ชุมชนและรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้สรุปว่าปัจจุบันยาลดระดับคอเรสเตอรรอลนั้นหาได้ทั่วไป และอาจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคหัวใจทั่วโลก ยาที่ว่านี้มีราคาไม่แพงนักสำหรับประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว แต่สำหรับประชากรในประเทศยากจนซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำนั้น การซื้อยาลดระดับคอเรสเตอรรอลมาทานเป็นประจำทุกวันยังอาจเป็นภาระที่หนักเกินไป

XS
SM
MD
LG