ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สัมผัสสีสันดนตรีบูลส์แห่งลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้กับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ


สัมผัสสีสันดนตรีบูลส์แห่งลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้กับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
สัมผัสสีสันดนตรีบูลส์แห่งลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้กับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

ดนตรีบลูส์ที่ฝังรากอยู่ในอเมริกามายาวนานโดยเฉพาะในแถบรัฐทางใต้ของสหรัฐปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ถิ่นกำเนิดของดนตรีชนิดนี้ยังคงมีชีวิตและงอกงามอยู่เสมอผ่านการจัดเทศกาลดนตรี และพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับดนตรีบูลส์มาหลายทศวรรษ เช่นเดียวกับสุดยอดศิลปินบูลส์ที่เคยโด่งดังในหลายทศวรรษก่อนกำลังพยายามถ่ายทอดความรักในดนตรีบูลส์ไปสู่เยาวชนรุ่นต่อไป

ท่วงทำนองเพลง Dam right I’ve got the blues จากบิลล์ เพอร์รี่ ศิลปินผิวสีผู้มีฉายาว่า Bill Howling Mad Perry หรือจอมโหยหวนแห่งลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้

แม้ฐานะทางบ้านจะยากจนมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีโอกาสเรียนแม้เพียงระดับมัธยมฯ แต่บิลล์ มีดนตรีบูลส์ที่เป็นทุกอย่างของชีวิต และตอนนี้เขากำลังมองหาผู้ที่จะร่วมสานต่อแนวทางดนตรีที่เขารักในอนาคต

ห้องซ้อมดนตรีในพิพิธภัณฑ์เดลตาบูลส์ คือสถานที่ที่บิลล์ เพอร์รี่ ใช้เวลา 4 วันต่อสัปดาห์ ร่วมฝึกสอนและฝึกซ้อมดนตรีกับศิษย์เอกทางดนตรี ในวัย 10 ขวบเศษสามคน ที่เลือกเครื่องเล่นดนตรีได้ตามใจชอบ ทั้งกีตาร์ เบส และกลอง เพื่อเรียนรู้จิตวิญญานแห่งบูลส์จากนักดนตรีรุ่นใหญ่

ฉายาสองสิงห์พี่น้องบูลส์ หรือ The Blues Brothers ไม่ได้มาง่ายๆสำหรับไคเลน ธอมัส (Kylen Thomas) มือกีตาร์วัย 12 ขวบ และคีย์ดอรส ธอมัส (Keydrous Thomas) มือกลองวัย 11 ขวบ

ไคเลน มือกีตาร์ในฐานะพี่ชายคนโตบอกว่า อยากจะเป็นนักดนตรีบูลส์เหมือนกับบิลล์ อาจารย์ผู้ถ่ายทอดลายเสียงกีตาร์ เพื่อที่จะได้เดินทางไปทั่วโลกและเล่นดนตรีบูลส์ที่เขารักในทุกแห่งที่ไป

ส่วนคริสโทน อินแกรม วัย 11 ขวบ ที่เพิ่งจะเริ่มเล่นกีตาร์เบสเมื่อปีที่ผ่านมา บอกว่า วันหนึ่งข้างหน้าเขาจะต้องเชี่ยวชาญในดนตรีบูลส์ หรือ ที่เรียกว่าเป็น บูลส์แมน Blues Man ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนเพลงโปรดิวเซอร์เพลง นักดนตรี หรือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับดนตรีบูลส์

ในฐานะผู้ถ่ายทอดดนตรีแห่งบูลส์ บิลล์ เพอร์รี่ บอกว่า ไม่ได้แปลกใจอะไรเลย กับความเก่งกาจของลูกศิษย์วัยเยาว์ของเขา ที่แม้จะเพิ่งเริ่มฝึกซ้อมอย่างจริงจังแต่สิ่งที่เขาสอนอยู่เสมอคือหากมุ่งมั่นในสิ่งอยากจะเป็นก็ต้องมุ่งมั่นในสิ่งที่จะทำ

บิลล์ ย้ำว่า เขาต้องการให้เด็กๆเหล่านี้ได้รับพลังในแง่บวกจากสิ่งที่เขาพยายามทำในวันนี้ จนน่าคิดเหมือนกันว่าลูกศิษย์ของเขาพัฒนาขึ้นมากเพียงใดในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า

ดินแดนแถบปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของดนตรีบูลส์แล้ว ในทุกๆปีก็จะมีการจัดเทศกาลดนตรีบูลส์อยู่เป็นประจำ เวทีคอนเสริ์ทกลางแจ้งจึงไม่เคยร้างผู้คนที่เดินทางไปร่วมสัมผัสและภูมิใจกับดนตรีบูลส์ที่พวกเขารัก แม้ส่วนใหญ่จะเป็นคนอเมริกันผิวสี และสูงวัย ก็ตาม

หนึ่งในนั้นเดวิด เอ็ดวาร์ดส (David Edwards) นักดนตรีบูลส์รุ่นเก๋า ในวัย 95 ปี ที่มีฉายาติดตัวมาตั้งแต่วัยหนุ่มว่า Honey Boy ยังคงขึ้นเวทีคอนเสริ์ทเล่นกีตาร์เพื่อยืนยันความเก่าแก่และยืนยง ด้วยเพลงบูลส์ในตำนานที่คุณปู่ Edwards อายุเกือบครบศตวรรษที่กำลังร้องในขณะนี้

เนื้อหาและลักษณะเด่นของดนตรีบูลส์มักจะตอกย้ำและบอกเล่าความยากจนข้นแค้นของคนผิวดำทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นทาสผิวดำ และแรงงานในไร่นาที่ยากจนไม่มีที่ดินของตัวเอง

ส่วนรูปแบบของดนตรีก็ให้อิสระกับนักดนตรีที่สามารถสร้างสรรค์ท่วงทำนองของตัวเอง หรือ Improvise ได้

และบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเพลงบูลส์ ก็คือ William Christopher Handy ที่ได้รับแรงบันดาลใจสร้างสรรค์เพลงบูลส์ระหว่างที่นั่งรอรถไฟที่สถานีเมือง Tutwiler ในรัฐมิสซิสซิปปี้ เมื่อปีคริสตศักราช 1903 และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกรู้จักเสียงสไลด์กีตาร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของบูลส์ แบบนี้ครับ

และนี่คือจังหวะเพลงบูลส์จากฝีมือของลูกศิษย์วัย 10 กว่าขวบทั้ง 3 คนของบิลล์ เพอร์รี่ ที่ได้รับโอกาสให้ขึ้นไปร่วมเล่นดนตรีบูลส์ด้วยกันในผับกลางเมืองคลากส์เดล รัฐมิสซิสซิปปี้

ในฐานะอาจารย์สอนดนตรีบูลส์แห่งลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี้ บิลล์กล่าวสั้นๆ บนเวทีเพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ดนตรีบูลส์ไม่มีวันตาย ก็เพราะเด็กๆรุ่นใหม่ที่เล่นในดนตรีบูลส์จะต้องผ่านการพิสูจน์ฝีมือด้วยการขึ้นเล่นดนตรีสดๆให้ทุกคนได้ฟังแบบนี้อยู่ตลอดเวลา

และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้จิตวิญญานของบูลส์แห่งลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้จะยังคงงดงามและงอกเงย ต่อไป

XS
SM
MD
LG