ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เสียงต่อต้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาวกำลังยกฐานะไปเป็นแรงกดดันระดับประเทศ


เสียงต่อต้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาวกำลังยกฐานะไปเป็นแรงกดดันระดับประเทศ
เสียงต่อต้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาวกำลังยกฐานะไปเป็นแรงกดดันระดับประเทศ

ลาวยังคงผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำไซยะบุรีต่อไป แม้ประเทศเพื่อนบ้านขอให้มีการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ว่านี้มากขึ้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าเสียงต่อต้านในระดับรัฐบาลจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ลาวต้องหันมาทบทวนโครงการเขื่อนไชยบุรีก่อนที่จะลงมือสร้างอย่างจริงจัง

เขื่อนไซยะบุรีคือเขื่อนแรกในโครงการสร้างเขื่อน 11 แห่งกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลลาวเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาความยากจนและสร้างรายได้แก่ชาวบ้าน ในการประชุมของคณะกรรมการร่วมลุ่มแม่น้ำโขงที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อเร็วๆ นี้ ลาวเสนอว่าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีต้องเดินหน้าต่อไป แต่ประเทศเพื่อนบ้านคือไทย เวียดนามและกัมพูชา มีแถลงการณ์ร่วมกันขอให้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเวียดนามขอให้ชะลอโครงการนี้ออกไปอย่างน้อย 10 ปี อย่างไรก็ตามทั้ง 4 ประเทศตกลงกันว่าจะจัดการเจรจาระดับรัฐมนตรีอีกครั้งในปีนี้


ทางด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวและการยกฐานะการเจรจาไปสู่ระดับรัฐมนตรี คือการเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี Philip Hirsh ศาสตราจารย์ด้านมนุษย์นิเวศน์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Sydney ชี้ว่าแม้คณะกรรมการร่วมลุ่มแม่น้ำโขงหรือ MRC ไม่มีอำนาจสั่งให้ลาวยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง แต่พิธีสารของ MRC อนุญาตให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถใช้วิธีทางการฑูตกดดันลาวได้

ศาสตราจารย์ Hirsh เชื่อว่าหากลาวยังเดินหน้าสร้างเขื่อนโดยไม่ฟังคำทัดทานของเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนาม อาจทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ และอาจส่งผลสะเทือนถึงความสัมพันธ์ลาว-เวียดนามได้ นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังเสริมด้วยว่า หากลาวเริ่มก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีเมื่อใด ประเทศอื่นโดยเฉพาะกัมพูชาก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนของตนได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะตามพิธีสาร MRC นั้น แต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากอีก 3 ประเทศในการดำเนินงานสร้างเขื่อนแต่อย่างใด

ทางด้านบรรดาองค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเตือนว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและการยังชีพของประชาชนในท้องถิ่น คุณ Stuart Chapman ผอ.โครงการลุ่มน้ำโขงของกองทุนสัตว์ป่าโลก World Wildlife Fund ชี้ว่าเนื่องจากแม่น้ำโขงมีลักษณะเฉพาะตัวทั้งในด้านความหลากหลายของพันธุ์ปลาและจำนวนปลาที่ว่ายขึ้นลงตลอดแม่น้ำ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไม่ว่าส่วนใดจึงเป็นเสมือนการปิดกั้นไม่ให้ปลาหลายพันธุ์เดินทางอพยพย้ายถิ่น และเมื่อไม่มีการย้ายถิ่นฐาน ปลาก็ไม่สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ จึงอาจนำไปสู่การล่มสลายของอาชีพการประมง

คุณ Chapman ยกตัวอย่างเขื่อนในแถบอเมริกาเหนือซึ่งมีบันไดปลาโจนและเครื่องมืออื่นๆที่ช่วยให้ปลาสามารถว่ายผ่านเขื่อนได้ แต่บันไดปลาโจนนั้นใช้ไม่ได้กับปลาหลายพันธุ์ในแม่น้ำโขง นอกจากนี้รายงานการศึกษาล่าสุดของกองทุนสัตว์ป่าโลกยังระบุด้วยว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีของลาวไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ก่อนหน้านี้วุฒิสมาชิกอเมริกันจิม เว็บบ์ มีแถลงการณ์เตือนว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจะเป็นผลร้ายต่อการประมงและการปลูกข้าวบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่สำคัญชีวิตของประชาชนราว 60 ล้านคนยังต้องพึ่งพาแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งของเอเชียนี้ในการดำรงชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต

XS
SM
MD
LG