ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ป่าชายเลนคือแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนมากกว่าระบบนิเวศน์อื่นๆเกือบทั้งหมดเมื่อเทียบตามหนึ่งหน่วยพื้นที่


A tall mangrove forest on the island of Borneo. Mangroves often reside on thick sediment layers rich in organic matter, resulting in carbon storage exceeding most tropical forests.
A tall mangrove forest on the island of Borneo. Mangroves often reside on thick sediment layers rich in organic matter, resulting in carbon storage exceeding most tropical forests.

รายงานชิ้นใหม่ระบุว่าป่าโกงกางหรือป่าชายเลนคือแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าระบบนิเวศน์อื่นๆเกือบทุกแหล่งทั่วโลกเมื่อเทียบตามหนึ่งหน่วยพื้นที่ แต่การที่ป่าชายเลนเหล่านั้นถูกทำลายจนมีจำนวนลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกปริมาณมหาศาลถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ป่าโกงกางหรือป่าชายเลนนั้นคือแหล่งผสมพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ และยังช่วยรับแรงกระแทกและความเสียหายที่เกิดจากพายุพัดเข้าชายฝั่ง แต่บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของป่าชายเลนที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงหรือศึกษากันมากนักคือ การเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง

รายงานชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร “Nature Geo-science” ระบุว่าจากการศึกษาป่าชายเลน 25 แห่งบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกได้มากกว่าป่าไม้เขตหนาวหรือป่าฝนเขตร้อนชื้นราว 3-4 เท่าเมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่เท่าๆกัน คุณ Daniel Donato เจ้าหน้าที่ด้านป่าไม้ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ หนึ่งในผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้กล่าวว่าป่าชายเลนคือป่าไม้ที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ดีที่สุดในโลก โดยคาร์บอนส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้ใต้ดินในรากของต้นโกงกาง

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชี้ว่า ราว 1 ใน 3 หรือราวครึ่งหนึ่งของป่าชายเลนทั่วโลกถูกทำลายไปแล้วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากการทำไม้ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและการถางป่าโกงกางเพื่อใช้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชีย

นักวิจัยประเมินว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละปีซึ่งเป็นผลจากการทำลายป่าชายเลน อาจมีสัดส่วนราว 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดทั่วโลก แม้ในความเป็นจริงนั้น พื้นที่ป่าชายเลนมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของพื้นที่ป่าไม้เขตร้อนชื้นทั้งหมดบนโลกก็ตาม คุณ Daniel Donato ชี้ว่านั่นคือเหตุผลที่บรรดาผู้วางนโยบายในประเทศต่างๆควรให้ความสนใจกับรายงานชิ้นนี้

นักวิจัยผู้นี้บอกว่าป่าโกงกางหรือป่าชายเลนอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับตลาดซื้อขายคาร์บอนที่สนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยบรรดานักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างเชื่อว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนซึ่งบริษัทต่างๆสามารถซื้อสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แลกกับการปกป้องป่าไม้หรือทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆชดเชยนั้น คือแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรับมือกับภาวะโลกร้อนพร้อมๆไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

คุณ Emily Pidgeon ผอ.โครงการอนุรักษ์สัตว์น้ำของกลุ่มอนุรักษ์ Conservation International กล่าวว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนคือกระบวนการประเมินค่าการอนุรักษ์ป่าชายเลนออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งจะช่วยให้มีเครื่องมือในการตอบโต้กับข้อขัดแย้งในเรื่องการเงินและเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ในส่วนของผู้บริโภค ปัจจุบันประเทศตะวันตกหลายประเทศได้สนับสนุนให้ซื้ออาหารทะเลจากฟาร์มที่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงฟาร์มเกษตรที่ไม่มีผลกระทบต่อป่าชายเลน

คุณ Pidgeon ชี้ว่าแนวทางสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนตามชายฝั่งช่วยกันรักษาป่าชายเลน คือการกระตุ้นให้ชุมชนมองภาพป่าทั้งป่าในองค์รวมไม่ใช่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ให้เห็นว่าป่าชายเลนทั้งหมดมีประโยชน์มากมายหลายอย่าง ทั้งเป็นแหล่งผสมพันธุ์สัตว์น้ำ เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ และประโยชน์ล่าสุดคือเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง

XS
SM
MD
LG