ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยอเมริกันค้นพบลักษณะการแพร่ของเชื้อมาลาเรียในร่างกายคน


หลังจากดูุดเลือดจนอิ่มแล้ว ยุงตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียจะฉีดเชื้อโรคนับพันตัวเข้าไปในกระแสเลือดของเหยื่อ

คุณโดราน กรีนบาม ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย University of Pennsylvania กล่าวว่า ตัวเชื้อโรคจะแตกตัวอย่างรวดเร็วทันทีที่เข้าไปสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง เชื้อโรคนับพันๆตัวจะเพิ่มทวีคูณอย่างรวดเร็ว

ศาสตราจารย์กรีนบามกล่าวว่าตัวเชื้อโรคแต่ละตัวจะแตกออกเป็น 24 ถึง 32 ตัวภายใน 48 ชั่วโมง เป็นการขยายจำนวนอย่างรวดเร็วมาก

ศาสตราจารย์กรีนบามกล่าวว่าเขาและทีมงานวิจัยค้นพบว่า ขณะอยู่ในเซลล์ในเม็ดเลือดแดง ตัวเชื้อมาลาเรียจะใช้สารโปรตีนหลายชนิดในการแตกตัว หลังจากดูดกินสารอาหารที่หล่อเลี้ยงเซลล์แล้ว ตัวเชื้อโรคที่เพิ่งแตกตัวออกมาใหม่จะทะลุทะลวงผนังเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาสู่กระแสเลือด เพื่อเข้าไปเเพร่เชื้อในเซลล์เม็ดเลือดแดงตัวใหม่แล้วขยายเพิ่มจำนวนเป็นล้านๆตัว หลังจากฟักตัวนานหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ผู้ติดเชื้อมาลาเรียจะเริ่มแสดงอาการป่วย มีไข้สูง หนาวสั่นและเหงื่อออก

นักวิจัยชี้ว่าการค้นพบสารโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เป็นเป้าหมายของเชื้อมาลาเรียอาจนำไปสู่การบำบัดมาลาเรียด้วยยาแบบรับประทานตัวใหม่ที่เรียกว่ายาโซทราสะโตร์อิน (sotrastaurin)

เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อมาลาเรียจะเข้าไปจับตัวกับสารโปรตีนที่เรียกว่าเอนไซม์ PKC ทำให้โครงสร้างสารโปรตีนอ่อนแอ ทำให้เซลล์ฺถูกแยกออกจากกันจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยาโซทราสะโตร์อินจะมีฤทธิ์ไปบล็อคไม่ให้เชื้อมาลาเรียเข้าไปถึงตัวเอนไซม์ PKC ได้ เป็นการตัดวงจรไม่ให้เชื้อโรคแตกตัวเพิ่มจำนวนได้

ศาสตราจารย์กรีนบาม ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเมื่อเชื้อโรคเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดแดงแล้ว ฤทธิ์ยามีผลให้เชื้อโรคไม่สามารถแตกตัวได้และติดอยู่ข้างในเซลล์ ไม่สามารถออกมาได้ เมื่อวงจรชีวิตเชื้อโรคถูกตัด ภายในไม่กี่ชั่วโมงเชื้อโรคจะเริ่มตาย

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยจอนห์ ฮ็อบคินส์ ในรัฐเเมรี่แลนด์ นำโดยศาสตราจารย์กรีนบามทำการทดลองใช้ยาโซทราสะโตร์อินในการบำบัดมาลาเรียในหนูทดลองแล้วปรากฏว่าจำนวนเชื้อมาลาเรียในหนูลดลงอย่างรวดเร็ว

ตัวยาโซทราสะโตร์อินกำลังอยู่ระหว่างทดลองรักษาในคนเพื่อบำบัดอาการต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะในคน

เนื่องจากยาตัวนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดของมนุษย์ เชื้อมาลาเรียจึงไม่สามารถพัฒนาต่อต้านต่อยาชนิดนี้ได้
XS
SM
MD
LG