ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดินที่ขาดหญ้าปกคลุมและขาดไนโตรเจนเป็นเหตุให้ตั๊กแตนระบาด


ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการเลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยให้กินหญ้าไปตามทุ่งจนไม่มีหญ้าเหลือทำให้เกิดปัญหาดินลดความอุดมสมบูรณ์และเกิดการพังทลายของหน้าดินทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของตั๊กแตนศัตรูของพืชด้วย

ปัญหาการระบาดของตั๊กแตนที่ทำลายพืชในเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านในทวีปอาฟริกาเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


คุณอารีน่า ซีส อดีตอาสาสมัครของหน่วยงาน Peace Corps เล่าให้ผู้สื่อข่าววีโอเอฟังว่าเมื่อห้าปีที่แล้วตอนที่เธอเริ่มทำงานตำแหน่งอาสาสมัครในประเทศเซเนกัลได้ไม่นาน เกิดการระบาดของฝูงตํ๊กแตนในพื้นที่สวนในหมู่บ้านที่เธอทำงาน กัดกินพืชยืนต้นและไม้ผลต่างๆ ทำลายสวนเพาะต้นมะม่วงและไม้ผลอื่นๆเสียหายจนไม่สามารถนำไปปลูกตามแผนการที่วางไว้

การระบาดรุนแรงของฝูงตั๊กแตนในประเทศเซเนกัลครั้งนั้น เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเกิดการระบาดของศัตรูพืชตัวฉกาจนี้ในหลายประเทศของทวีปอาฟริกา ทำลายพืชในสวนและไร่นา สร้างความอดอยากแก่ชาวอาฟริกาในพื้นที่หลายล้านคน

คุณซีส บอกว่า การระบาดของตั๊กแตนศัตรูพืชในเซเนกัลทำให้เธออยากค้นหาคำตอบให้ได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของตั๊กแตนและจะหาทางป้องกันได้อย่างไร

คำตอบที่คุณซีสค้นพบจากการศึกษาสร้างความประหลาดใจอย่างมากเพราะไม่คาดคิดว่าปัญหาหน้าดินพังทลายและขาดความอุดมสมบูรณ์เกี่ยวพันกับการระบาดของตั๊กแตน

ปัจจุบัน คุณซีสกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัย Arizona State University เธอเดินทางไปศึกษาการพังทลายของหน้าดินในมองโกลเลียที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า ปศุสัตว์แทะเล็มหญ้าจนเกลี้ยงจากหน้าดินทำให้ปัญหาหน้าดินพังทลายรุนแรงมากขึ้น

การพังทลายของหน้าดินมีผลให้ดินสูญเสียแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะไนโตรเจน ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชและสิ่งมีชีวิตทุกประเภทเพราช่วยสร้างโปรตีน

นักวิจัยชี้ว่าความเชื่อที่ว่าตั๊กแตนสายพันธุ์ท้องถิ่นของเอเชียชอบกินต้นไม้หรือพืชที่มีโปรตีนสูง เพาะปลูกในที่ดินอุดมสมบูรณ์เป็นความเชื่อที่ผิด

คุณซีส กล่าวว่า การศึกษาของเธอพบว่าพืชที่มีโปรตีนสูงกลับเป็นอันตรายต่อตั๊กแตน ทำให้ตั๊กแตนตายได้ จากการศึกษาทั้งในห้องทดลองและในพื้นที่จริง คุณซีสและทีมงานพบว่าตํ๊กแตนเจริญเติบโตได้ดีเมื่อกินพืชที่ปลูกในพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการแก้ปัญหาการระบาดของตั๊กแตนทำได้ด้วยการปรับปรุงให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

ทางด้านคุณคีท เครสแมน หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์ปัญหาการระบาดของตั๊กแตนประจำสำนักงานอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ กล่าวว่า แปลกใจมากที่ได้ยินว่าตั๊กแตนชอบกินพืชที่มีระดับโปรตีนต่ำเพราะเติบโตในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี เขาแย้งว่า ผลการศึกษานี้อาจไม่คลุมถึงตั๊กแตนสายพันธุ์อาฟริกา เพราะตั๊กแตนใน อาฟริกาเติบโตและขยายจำนวนอย่างรวดเร็วหากกินพืชที่มีโปรตีนสูง เขาบอกว่า การแก้ปัญหาตั๊กแตนระบาดเป็นงานที่ซับซ้อนกว่าที่คิด

ด้านคุณอารีน่า ซีส นักวิจัยเรื่องนี้ วางแผนจะเดินทางกลับไปที่อาฟริกาเพื่อศึกษาความซับซ้อนของเรื่องนี้ เธอต้องการค้นคว้าว่าการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยให้หากินเองจนทำลาย พืชหน้าดินมากเกินไปในอาฟริกา มีผลต่อการระบาดของตั๊กแตนในพื้นที่อย่างไร

XS
SM
MD
LG