ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลการวิจัยโรคเรื้อนชิ้นใหม่อาจนำไปสู่การวินิจฉัยและบำบัดโรคได้แต่เนิ่นๆ


ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ยุคกลาง (Middle Ages) จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้ป่วยโรคเรื้อนถูกส่งตัวไปอยู่ในหมู่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อนที่อยู่ห่างไกลและตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะทางการกลัวว่าจะเเพร่เชื้อต่อไปสู่คนอื่นต่อไป

เมื่อราว 140 ปีที่แล้ววงการแพทย์ค้นพบว่าโรคเรื้อนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไม่ติดต่อกันง่ายดายอย่างที่คิด เมื่อมีการคิดค้นยาปฏิชีวนะได้สำเร็จในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 วงการแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนหลายคนให้หายเป็นปกติ ทำให้หมู่บ้านกักกันผู้ป่วยโรคเรื้อนเริ่มทยอยปิดตัวลง

อย่างไรก็ตามมีคนทั่วโลกประมาณ 2 ถึง 3 ล้านคนที่ยังพิกลพิการด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยและอาการทางระบบประสาทจากโรคเรื้อนแม้ว่าจะได้รับการบำบัดแล้วก็ตาม

คุณอันนุรา รัมโบคานา นักชีววิทยาเนื้อเยื่อและประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย University of Edinburgh ในสก็อตแลนด์ กล่าวว่า ระบบภูมิต้านทานของร่างกายยังตอบสนองต่อการติดเชื้อแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว

คุณรัมโบคานา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ระบบภูมิต้านทานของร่างกายผู้ป่วยบางรายไม่หยุดยั้งการตอบโต้กับเชื้อโรคแม้ว่าจะได้รับการรักษาจนเชื้อแบคทีเรียจนหมดไปจากร่างกายเเล้วก็ตาม เขากล่าวว่านี่เป็นเพราะเกิดความเสียหายในระบบประสาทจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อโรคเรื้อน

เมื่อสิบปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกเริ่มต้นโครงการกำจัดโรคเรื้อนหรือที่เรียกกันว่าโรค Hansen’s disease แต่องค์การอนามัยโลกรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโรคเรื้อนรายใหม่ทั่วโลกมากกว่าสองแสนสองหมื่นแปดพันรายในปีพุทธศักราช 2553

ทีมนักวิจัยไม่รู้แน่ชัดว่าผู้ป่วยติดเชื้อโรคเรื้อนได้อย่างไร คุณรัมโบคานา หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าเชื้อแบคทีเรียไมโครแบคทีเรียม เลพพรี จะเเพร่เชื้อเข้าในเซลประสาทพิเศษในแขนและขาบางจุดที่ทำหน้าที่แยกสัญญากระแสไฟฟ้าจากสมองที่เรียกว่า ชะวานเซลล์ส (Schwann cells)

คุณรัมโบคานานักวิจัยกล่าวว่าเชื้อแบคทีเรียเข้าไปรบกวนการทำงานของยีนในเซลล์ Schwann และแปรสภาพเซลบางตัวเป็นสเต็มเซลล์หรือเซลล์ตั้งต้น ซึ่งเป็นเซลล์ชนิดพิเศษที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดต่างๆในร่างกายมนุษย์ได้

ทีมนักวิจัยทดลองฉีดสเต็มเซลล์ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคเรื้อนเข้าไปในหนูทดลอง เพื่อสังเกตุดูว่าเซลล์ที่เกิดจากการติดเชื้อแปรสภาพไปเป็นเซลล์กล้ามเนื้อชนิดต่างๆำได้อย่างไร

คุณรัมโบคานาหัวหน้าทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย University of Edinburgh ในสก็อตแลนด์กล่าวว่าเชื้อเเบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อนได้เข้าไปในกล้ามเนื้อทั่วไปของหนูและกล้ามเนื้อในกระดูก เขากล่าวว่าลักษณะการแพร่กระจายของเชื้อโรคเรื้อนในกล้ามเนื้อแบบนี้เห็นได้ชัดในผู้ป่วยโรคเรื้อนระยะรุนแรง เชื้อแบคทีเรียโรคเรื้อนเข้าไปทำลายไม่เฉพาะระบบเส้นประสาทเท่านั้ัน แต่ยังเข้าไปในกล้ามเนื้อด้วย

คุณรัมโบคานาไม่รู้ว่าเซลล์ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียโรคเรื้อนสามารถแปรสภาพเป็นเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดลักษณะรูปร่างผิดเพี้ยนซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคเรื้อนหรือไม่ เขาหวังว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีตรวจเลือดที่ช่วยวินิจฉัยและบำบัดโรคเรื้อนได้แต่เนิ่นๆ
XS
SM
MD
LG