ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบว่ายาหลอนประสาทช่วยบรรเทาอาการโรคซึมเศร้าได้


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:26 0:00
Direct link

นักเสพยาเรียก Ketamine ซึ่งเป็นยาหลอนประสาทและใช้ในการระงับประสาทสัตว์ ว่า ‘Special K’ แต่เวลานี้ นักวิจัยพบว่า Ketamine ช่วยบำบัดอาการโรคเศร้าซึมได้ในระยะสั้น สำหรับผู้ที่ใช้ยาหรือวิธีการอื่นๆ รวมทั้งจิตบำบัดมาแล้วแต่ไม่ได้ผล

การทดลองใช้ Ketamine ครั้งล่าสุดนี้ทำกันในประเทศอังกฤษ และพบว่า การใช้ยานี้ในปริมาณต่ำช่วยลดอาการให้กับส่วนหนึ่งของผู้ร่วมการทดลองรวมทั้งหมด 28 คนที่เป็นโรคเศร้าซึมอย่างหนักได้ คนไข้ทั้งหมดรับประทานยาต้านความเศร้าซึมอยู่แล้ว ก่อนจะเริ่มใช้ Ketamine ซึ่งต้องฉีดเข้าเส้น

หัวหน้าคณะนักวิจัย Rupert McShane นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Oxford ได้ทำรายงานการทดลองและตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Journal of Psychopharmacology แล้ว นักจิตวิทยาผู้นี้บอกว่า มีคนไข้ 8 รายที่มีอาการตอบรับการบำบัด และ 3 คนบอกว่ามีความรู้สึกดีขึ้นเกือบจะทันทีที่ได้รับยาเป็นครั้งแรก

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Oxford บอกว่า ตามปกติแล้วคนไข้จะมีปฏิกิริยาภายในหกชั่วโมง และจะบอกว่า มีความรู้สึกโล่งอก สบายใจและคิดเรื่องอะไรต่ออะไรได้

และจากปากคำของคนไข้เอง ความรู้สึกที่ว่านี้จะมีอยู่ระหว่างหนึ่งถึงหกเดือน นักวิจัยชาวอังกฤษผู้นี้บอกไว้ด้วยว่า เป้าหมายของการทดลองยานี้ในอังกฤษ คือทดสอบความปลอดภัยในการใช้ยาขนานเดียวกันซ้ำๆ ไม่ได้ทดลองเพื่อดูประสิทธิผลของตัวยา

ในสหรัฐ ก็ได้มีการทดลองใช้ Ketamine มาแล้ว และ Rupert McShane บอกว่า ได้ผลราวๆ 70% ในการบำบัดอาการคนไข้ที่ทดลองวิธีการบำบัดอื่นๆ มาแล้ว แต่ไม่ได้ผล

Carlos Zarate หัวหน้าแผนกการทดลองการบำบัดของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของสหรัฐ บอกว่ามียาต้านอาการเศร้าซึม 30 ขนานในตลาดยาเวลานี้ แต่ยาเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการไม่ได้ทั้งหมด อาการดังกล่าวรวมถึง ความเหนื่อยอ่อนอย่างมาก ความเศร้าซึม หรือการไม่สามารถมุ่งความสนใจให้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

เขากล่าวว่า นอกไปจากนี้ แม้จะใช้ยาเหล่านี้แล้ว อาการเศร้าซึมรวมทั้งอัตราการกระทำอัตวินิบาตกรรมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ กว่ายาเหล่านี้จะแสดงผลให้เห็น ก็มักต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ทีเดียว

นักวิจัยชาวอเมริกันผู้นี้กล่าวต่อไปว่า จะมีคนไข้ราวๆ หนึ่งในสามที่ใช้ยาต้านอาการเศร้าซึมเพียงครั้งเดียวแล้วได้ผล ส่วนที่เหลือต้องทดลองยาขนานต่างๆ อีกอย่างน้อยสองครั้งหรือมากกว่านั้น จึงจะเห็นผล

Carlos Zarate หัวหน้าแผนกการทดลองการบำบัดของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของสหรัฐ บอกว่า Ketamine เข้าไปทำงานโดยตรงกับสาร Glutamate ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาท

เขากล่าวว่า ต่อคำถามที่ว่า ถ้าสามารถทำงานโดยตรงได้กับตัวรับของ Glutamate ซึ่งเรียกว่า NMDA จะได้ผลเร็วกว่าการใช้ยาต้านอาการเศร้าซึมอื่นๆ หรือไม่ คำตอบก็คือ ใช่ Ketamine ใช้เวลาสักสองชั่วโมงก็ได้ผล ในขณะที่ยาต้านอาการเศร้าซึมอื่นๆ ที่วางขายทั่วไปต้องใช้เวลานานราวๆหกสัปดาห์กว่าจะเห็นผล

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของการวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ต่อไปในขณะนี้ก็คือ จะต้องใช้ Ketamine มากน้อยแค่ไหนจึงจะปลอดภัย และพยายามคิดค้นยาที่ทำงานได้เหมือน Ketamine ในการเข้าไปที่ตัวรับของ Glutamate ได้โดยตรงและให้ผลระยะยาว
XS
SM
MD
LG